ในอดีต พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกเคยเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการพลาสติกอีกต่อไปเพราะทำให้เกิดขยะมลพิษที่กำจัดได้ยากและตื่นตัวกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์มลพิษขยะพลาสติกซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ละปีมีขยะพลาสติกจากตามชายฝั่งของมหาสมุทรทั่วโลกราว 18 พันล้านปอนด์ และเป็นอันตรายต่อสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในท้องมหาสมุทร
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจึงมีมาตรการที่ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง สำหรับประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สนับสนุนการยกร่างโรดแมปจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในรูปของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้ทุกภาคส่วนนำไปดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการ เช่น ยกเลิกพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มภายในปี 2562 การยกเลิกถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565 เป็นต้น
ในสหภาพยุโรป ได้อนุมัติมาตรการห้ามใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งสำหรับทวีปยุโรปซึ่งคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ตั้งแต่ต้นปี 2564 (ค.ศ.2021) ส่วนที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังเสนอกฎหมายให้ยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น หลอดและอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่กรุงวอชิงตันดีซี ได้มีมติตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาให้ใช้พลาสติกน้อยลงสำหรับภัตตาคารและธุรกิจบริการอื่นๆ และภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้ หากยังมีการใช้หลอดพลาสติก ธุรกิจห้างร้านต่างๆ จะถูกปรับตามกฎหมาย ดังนั้น ร้านค้าต่างๆ จึงเตรียมหันมาใช้วัสดุที่ทำจากกระดาษหรือฟางแทนพลาสติก
ส่วนประเทศจีน รัฐบาลได้ประกาศแผนการเก็บภาษี 25% สำหรับเศษขยะพลาสติกบางประเภท เช่น พีวีซี โพลีสไตรีน โพลีเอทธีลีน เป็นต้น และหากเราเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศเปรู เราก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พลาสติกแบบใช้
ครั้งเดียวทิ้งเช่นกัน โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ใช้พลาสติกชีวภาพ หรือพลาสติกที่มีการนำกลับมาใช้ซ้ำทดแทน
เมื่อเดือนตุลาคม 2561 องค์กรจำนวนนับหมื่นองค์กรที่มีส่วนในปัญหาพลาสติกได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยลดมลพิษและขยะที่เกิดจากพลาสติกในนามของโครงการที่มีชื่อว่า New Plastics Economy Global Commitment โดยรวมถึงกลุ่มสมาชิกจากเมืองและบริษัทต่างๆ เช่น เมืองออสติน ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเอ็ชแอนด์เอ็ม ยูนิลีเวอร์ เป๊ปซี่โค ลอรีรอัล เนสท์เล่ และโคคาโคล่า เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การสหประชาชาติซึ่งนำโดยมูลนิธิเอลเลน แม็คอาร์เธอร์ ร่วมกับหุ้นส่วนจากกองทุนสัตว์ป่าสากล (WWF) สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) สภาสินค้าผู้บริโภค และสถาบันการศึกษาอีก 40 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีองค์กร หน่วยงาน และบริษัทต่างๆ ทั่วโลกอีกจำนวนมากที่ได้ร่วมกันประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตมลพิษขยะพลาสติก
ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากทั่วโลกเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญและให้ความร่วมมืออย่างแข็งขัน และโลกของเราจะสามารถบรรลุวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030 (ค.ศ.2573) ได้ก็ด้วยจากความร่วมมือจากประเทศต่างๆ อย่างจริงจังเท่านั้น มาร่วมกันลดการใช้พลาสติกและใช้วัสดุทดแทนพลาสติกเพื่อช่วยรักษ์โลกของเรากันเถอะ
ที่มา: 1. https://www.nationalgeographic.com/environment/2018/07/ocean-plastic-pollution-solutions/
2. https://mgronline.com/business/detail/9620000025162
3. https://www.environmentalleader.com/2019/05/california-city-proposes-ban-on-single-use-plastics/
Related posts
Tags: Climate Change, Environmental Management, Sustainability Management
ความเห็นล่าสุด