ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ธุรกิจและองค์กรทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและมีส่วนสำคัญในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น โดยมีการใช้จ่ายค่อนข้างสูงไปกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบัน เริ่มมีความลงตัวมากขึ้นระหว่างการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจในขณะที่เทคโนโลยีก็กำลังเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนเราไปจากเดิม โดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 207 ได้แก้ไขปัญหาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนไปได้ในระดับหนึ่งและสามารถตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลกด้วย
ในโอกาสนี้ วารสารไอเอสโอโฟกัสได้เข้าสัมภาษณ์ชีล่า เลกเก็ตต์ ซึ่งได้เริ่มทำงานเป็นวาระแรกเมื่อปี 2561 ในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 207, Environmental management และกำลังเติบโตในอาชีพนักชีววิทยา นักนิเวศวิทยา ที่ปรึกษาอุตสาหกรรม และผู้บัญญัติกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเป็นคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศแคนาดาและคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ จึงทำให้เลกเก็ตต์ มีประสบการณ์อย่างกว้างขวางในเรื่องดังกล่าวและมีความรู้ลงลึกในรายละเอียดด้วย
คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 207 มีความพยายามในการสร้างนวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรรมโดยรวม โดยใช้ระบบเป็นพื้นฐานซึ่งหมายความว่ามีการโฟกัสไปที่การสร้างกรอบการทำงานเพื่อการมาตรฐานมากกว่าการติดตามเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม งานทั้งหมดของคณะกรรมการวิชาการนี้ได้ให้ความสำคัญผ่านมุมมองด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
สำหรับคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 207 รับผิดชอบมาตรฐานด้านระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและเครื่องมือที่ใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนแต่ไม่รวมถึงวิธีทดสอบมลพิษ และระดับสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อมของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ โดยมีความร่วมมือในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 176 สาขาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและการตรวจประเมิน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐาน ISO 14034, Environmental management – Environmental technology verification (ETV) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 207 มีการระบุความต้องการของตลาดและพัฒนามาตรฐานที่ตอบสนองข้อกำหนดในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร
คำตอบคือ มาตรฐานการทวนสอบเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมมีการจัดเตรียมการทวนสอบอย่างอิสระในสมรรถนะของเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมใหม่และยอมให้ผู้พัฒนาแสดงสมรรถนะของเทคโนโลยีสู่ตลาดด้วย
ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกันในตลาด ฝ่ายต่างๆ จึงเห็นด้วยว่ามาตรฐานสมรรถนะที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลจะช่วยยกระดับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดความเชื่อถือ มีการประเมินอย่างอิสระของเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการนำ มาตรฐาน ISO 14034 ไปใช้ในประเทศต่างๆ แล้วจำนวน 39 ประเทศ
ความท้าทายหลักของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 207 คือ การนำมาตรฐานไปใช้เพื่อยกระดับความตระหนักเกี่ยวกับชุดมาตรฐาน ISO 14000 และแสดงให้เห็นถึงคุณค่าจากการนำไปใช้งาน ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ มีบริษัทหนึ่งให้ข้อมูลว่าได้นำชุดมาตรฐาน ISO 14000 ไปใช้ในธุรกิจ และช่วยให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากสิ่งที่เคยคิดก่อนหน้านี้ว่าเป็นของเสียไปแล้ว แต่ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ได้เพิ่มฐานของตลาดและช่วยลดปริมาณของเสียลงด้วย
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งที่เห็นก็คือการใช้ประโยชน์จากมาตรฐาน ISO 14000 ขึ้นอยู่กับสถานที่ทางภูมิศาสตร์เป็นอย่างมาก คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอได้พยายามเป็นอย่างมากที่จะทำความเข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และอะไรคือปฏิบัติการต่อไปที่จะต้องทำเพื่อกระตุ้นให้เกิดการยอมรับมากขึ้น เพราะหนึ่งในเป้าหมายของไอเอสโอคือการทำให้มั่นใจว่ามาตรฐานมีการนำไปใช้ทั่วโลก
จากมุมมองนี้ คุณค่าเพิ่มของการเข้าร่วมในงานระดับระหว่างประเทศอย่าง COP 24 ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าเราจะได้รับประโยชน์อะไรจากมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสำคัญที่มีการอภิปรายถึง
มาตรฐานที่คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 207 ทำการพัฒนาขึ้นนั้น เป็นชุดเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้เพื่อจัดเตรียมความมั่นคงและความแน่นอนในด้านระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม การประเมินและการควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมองค์กร รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการซึ่งมีความสำคัญสำหรับองค์กรที่ตระหนักดีว่ากำลังจะเติบโตไปเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
มาตรฐานไอเอสโอเป็นมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือและความเห็นพ้องต้องกันของผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลก และเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการช่วยให้องค์กรสามารถวัดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ และยังช่วยให้เกิดปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในอนาคตด้วย
การนำชุดมาตรฐาน ISO 14000 ไปใช้ในงานและโครงการต่างๆ ทำให้ไอเอสโอได้รับข้อมูลตอบกลับที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามาตรฐานในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทำให้มีแนวคิดสำหรับอนาคตที่ทันสมัยและตลาดที่จำเป็นสำหรับมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ในระหว่างที่องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วองค์กรจะสร้างสมดุลระหว่างการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมกับค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร โปรดติดตามต่อไปในครั้งหน้าซึ่งเป็นตอนจบค่ะ
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2390.html
2. https://www.iso.org/committee/54808.html
3. https://www.iso.org/news/ref2354.html
ความเห็นล่าสุด