จากความตื่นตัวของคนทั่วโลกต่อการต่อสู้กับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงความตื่นตัวของเยาวชนในยุโรปที่ได้ออกมาเรียกร้องให้สหภาพยุโรปมีแผนปฏิบัติการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลกระทบถึงโลกของเรา ทำให้ผู้นำทั่วโลกไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้อีกต่อไป เพราะผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์และสัตว์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 มีรายงานข่าวว่าหมู่บ้านแฟร์เบิร์น เป็นหมู่บ้านในเวลส์แห่งประเทศสหราชอาณาจักร มีชาวบ้านราว 850 คนในหมู่บ้านริมทะเลแห่งนี้ กำลังจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลสูงที่ขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเกิดจากภาวะโลกร้อน และเป็นที่คาดการณ์ว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นจนท่วมหมู่บ้านแฟร์เบิร์นและจมหายไปภายใน 25 ข้างหน้า และทีมนักวิจัยนานาชาติได้เปิดเผยผลการศึกษาลงในวารสาร Science ว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้มาก ส่งผลให้น้ำทะเลเกิดการขยายตัว จนระดับน้ำอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 30 เซนติเมตรก่อนสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ เป็นต้น
เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 มีการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่เผยแพร่ในวารสาร Science Advances today ระบุว่าจำเป็นจะต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดการเสียชีวิตที่เกิดจากอากาศที่ร้อนสุดขีด เพราะหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังคงสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียสมากกว่าระดับก่อนอุตสาหกรรมตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้แล้ว คลื่นความร้อนอาจทำให้คนเสียชีวิตมากกว่า 6,000 คนในเมืองนิวยอร์ก มากกว่า 2,500 คนในเมืองลอสแองเจลิสและมากกว่า 2,300 คนในไมอามี แต่มีการวิจัยใหม่ระบุว่าหากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ มีปฏิบัติการที่ช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว การเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น
งานวิจัยดังกล่าวยังระบุว่าคลื่นความร้อนนั้นเกิดขึ้นทุกๆ สิบกว่าปีและเป็นอันตรายต่อเด็กและผู้สูงวัย คนทำงานที่อยู่นอกอาคารและประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตยากจน คลื่นความร้อนเป็นอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่เป็นเมืองซึ่งพื้นผิวถูกลาดปูด้วยวัสดุต่างๆ และมีกลุ่มอาคารแน่นหนาทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนความร้อนมากกว่าบริเวณอื่นอย่างมีนัยสำคัญ (Urban Heat Island)
เกี่ยวกับการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ภาวะโลกร้อนอาจส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตอย่างไรนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้จำลองภาพอนาคตด้านสภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นไว้ 3 แบบ แบบแรกคือ ประชาชาติต่างๆ ทั่วโลกไม่เพียงแต่จะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังจำกัดการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ยอุณหภูมิไม่ให้สูงกว่า 3 องศาเซลเซียสด้วย แบบที่ 2 คือ ประชาชาติจะมีความพยายามและสามารถจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2 – 1.5 องศาเซลเซียส และแบบที่ 3 คือ ประชาชาติจะมีความพยายามแต่ไม่สามารถจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2 – 1.5 องศาเซลเซียสได้
ในภาพจำลองแต่ละแบบนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศในการทำนายคลื่นความร้อน กับเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ดีทรอยต์ ฟิลาเดลเฟีย ไมอามี และนิวยอร์ก และคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตที่อุณหภูมิเท่าใดโดยอ้างอิงกับข้อมูลจริงของผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากความร้อนในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
แต่การศึกษาวิจัยดังกล่าวยังมีข้อจำกัดคือไม่สามารถทำนายจำนวนประชากรในแต่ละเมืองได้ รวมทั้งจำนวนผู้สูงวัยและผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งเมืองและประชากรเองอาจปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้อันเป็นผลให้เกิดการเสียชีวิตน้อยลงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งนักวิจัยมีความเห็นว่านี่ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่หมายถึงเรื่องของความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์ซึ่งโลกจำเป็นต้องร่วมกันดูแลแก้ไข
อันโตนิโอ กูแตเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวสุนทรพจน์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเรียกร้องให้ผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชน นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ และทุกอาชีพทั่วโลกให้หันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยกล่าวว่า เรามีเครื่องมือที่จะทำให้ปฏิบัติการลดภาวะโลกร้อนมีประสิทธิผล แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือความเป็นผู้นำและความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำในสิ่งที่จำเป็น แต่สิ่งที่เราต้องใส่ใจให้มากขึ้น ก็คือนักวิทยาศาสตร์ได้เตือนชาวโลกมานับสิบปี ครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าสภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกต้องร่วมกันแก้ไข แต่ผู้นำในประเทศต่างๆ ก็ยังคงไม่ใส่ใจอย่างจริงจัง มีบางส่วนที่ทำตามที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการเพราะมองเห็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ ในบางสถานการณ์ ประชากรโลกเข้าใกล้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟป่า และภัยธรรมชาติต่างๆ และประชาชาติที่ร่ำรวยเป็นผู้ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบมากที่สุดสำหรับวิกฤตโลกร้อน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นและรู้สึกได้ว่ารุนแรงอย่างเห็นได้ชัดก็เกิดขึ้นกับประเทศที่ยากจนและประชากรที่อ่อนแอในชุมชนต่างๆ
ในขณะที่เทคโนโลยีอยู่เคียงข้างเราในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีที่เราพบมีทั้งเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น วัสดุทางเลือกสำหรับก่อสร้าง แบตเตอรี่ที่ดีขึ้น และความก้าวหน้าในการใช้ที่ดินและการเกษตร นวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้นี่เองที่มีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น เราจึงสามารถก้าวสู่เป้าหมายข้อตกลงปารีสและเร่งดำเนินการเพื่อทำให้เป้าหมายเป็นจริง แต่หากเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ได้ภายในปี 2563 (ค.ศ.2020) เราก็จะพลาดเป้าหมายในการหลีกเลี่ยงภาวะโลกร้อน ตอนนี้ เราเสียเวลาไม่ได้อีกต่อไป ปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างไฟป่าและคลื่นความร้อนได้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อต่อตาเรา และกำลังนำเราไปสู่หายนะ โลกของเรากำลังค่อยๆ ร้อนขึ้น และความไม่ใยดีของเรากำลังทำให้เราต้องสูญเสียมากขึ้น ทุกๆ วันเราเข้าใกล้ชะตากรรมที่ไม่มีใครอยากพบเจอเข้าไปทุกที ชะตากรรมที่จะสะท้อนผ่านสู่คนอีกรุ่นซึ่งเกิดความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์ แต่โชคชะตาอยู่ในกำมือของเราทุกคนแล้ว โลกขึ้นอยู่กับเราทุกคนที่จะยกระดับความท้าทายก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ที่มา: 1. https://www.un.org/en/sections/issues-depth/climate-change/
2. https://www.bbc.com/news/world-europe-48621860
3. https://www.washington.edu/news/2019/06/05/urgent-action-on-climate-change-will-prevent-heat-related-deaths-in-major-u-s-cities/
Related posts
Tags: Climate Change, Environment Management, Sustainability Management
Recent Comments