หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติคือ การบรรลุความเท่าเทียมกันทางเพศ การพัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง (Gender equality) ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับความสงบหรือสันติสุข ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนของโลกด้วย
จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติพบว่ามีรายงานว่าสตรีและเด็กผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 15 – 49 ปี ประสบกับปัญหาความรุนแรงทางเพศหรือทางกายภาพโดยคนใกล้ชิดในช่วง 1 ปีและ 49 ประเทศไม่มีกฎหมายปกป้องสตรีจากความรุนแรง อย่างไรก็ตาม มีความคืบหน้าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่าการปฏิบัติโดยใช้ต่อสตรีและเด็กมีจำนวนลดลง 30% แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้บรรลุความเท่าเทียมกันทางเพศ เช่น การทำให้มีการเข้าถึงที่เท่าเทียมกันในหลายๆ ด้าน เช่น การศึกษา สุขภาพ งานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้แทนในกระบวนการตัดสินใจทางเศรษฐกิจและการเมือง เป็นต้น
ไอเอสโอหรือองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานซึ่งเป็นองค์กรสากลที่ดำเนินการพัฒนามาตรฐานและส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรมเพื่อความเจริญเติบโตก้าวหน้า ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการบรรลุความเท่าเทียมกันทางเพศ จึงได้มีความพยายามที่จะดำเนินนโยบายและเครื่องมือที่เหมาะสมในการส่งเสริมการบรรลุความเท่าเทียมกันทางเพศดังกล่าว ทั้งนี้ ในการดำเนินงานของไอเอสโอ ได้เปิดโอกาสให้สตรีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานด้านการมาตรฐานมากขึ้น ตัวอย่างเช่น มารี เอแลน เลซูด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีของสำนักงานกลางเลขาธิการไอเอสโอ กล่าวว่า ตนเองได้เป็นหนึ่งในผู้หญิงที่มีโอกาสเข้ามาทำงานที่ไอเอสโอและสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญในการทำงานคือต้องมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็น ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ก็สามารถทำเช่นนี้ได้เช่นกัน
ดร.ลุดมิลา แอลซินา คณะอนุกรรมการวิชาการ ISO/TC 71/SC1, Test methods for concrete กล่าวว่ายิ่งมีสตรีที่เข้ามามีบทบาทในวิทยาศาสตร์มากขึ้นเท่าใด วิทยาศาสตร์ในฐานะที่สตรีได้มีบทบาทก็ยิ่งมีส่วนในการดูแลโลกมากขึ้นเท่านั้น ส่วนเซลินา อิบราฮิม คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 207, Environmental management กล่าวว่าตนเองมีความเชื่อมั่นว่าได้มีความรับผิดชอบในการป้องกันความเสียหายหรือหายนะทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดขึ้นกับโลกของเรา และดร. ปูจี วินาร์มี BSN สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกของไอเอสโอ กล่าวว่าเนื่องในโอกาสวันสตรีสากลเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานับเป็นโอกาสดีในการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญและการต่อสู้ดิ้นรนของสตรีให้สามารถบรรลุถึงการเป็นตัวแทนสตรีและโอกาสที่เท่าเทียมกัน
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้หญิงที่ทำงานกับไอเอสโอ ยังมีผู้หญิงที่ทำงานกับไอเอสโออีกเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน นอกจากไอเอสโอแล้ว บริษัทและองค์กรทั่วโลกก็ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงมากขึ้นเช่นกัน และในการได้รับการส่งเสริมและผลักดันให้เข้าไปมีส่วนบทบาททั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้หญิงเองก็จำเป็นต้องมีการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดและแสดงออกถึงความสามารถด้วยเช่นกัน
คนทั่วโลกคงจะต้องขอบคุณผู้หญิงที่มีส่วนในการสร้างสรรค์โลกของเราให้มีความยั่งยืนและน่าอยู่มากขึ้นไม่แพ้ผู้ชาย ซึ่งก้าวต่อไปของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ทุกคนจะมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน และทั้งหมดนี้คือเรื่องของผู้หญิงกับการมาตรฐานที่ไอเอสโอได้นำมาแบ่งปันและเล่าสู่กันฟัง
ที่มา: 1. https://www.un.org/sustainabledevelopment/gender-equality/
2. https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/news/magazine/ISOfocus%20(2013-NOW)/en/2019/ISOfocus_134/ISOfocus_134_en.pdf
Related posts
Tags: Management Strategy, Standardization, Strategic Management
Recent Comments