ประชากรทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรวัยทำงานจึงมีแนวโน้มลดลงในขณะที่สังคมพึ่งพาเทคโนโลยีก็กำลังนำไปสู่การจ้างงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้มีรายงานว่าทักษะในการทำงานจะเป็นตลาดแรงงานใหม่สำหรับคนวัยทำงาน ไม่ใช่ตำแหน่งงานอีกต่อไป แล้วทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 จะเป็นอย่างไร
สำหรับประเด็นที่ว่าทักษะในการทำงานจะมีความสำคัญมากกว่าตำแหน่งงานนั้น พบว่าข้อมูลของ LinkedIn มีความสามารถในการมองไปยังอนาคตถึงการนำแนวทางด้านทักษะไปวิเคราะห์ตลาดแรงงาน เรื่องของ “ทักษะ” เป็นกระแสใหม่ของตลาดแรงงาน ทักษะสามารถระบุความต้องการทั้งในด้านผู้ที่กำลังหางานและผู้ที่กำลังจะจ้างแรงงาน ไม่ใช่ตำแหน่งที่เป็นอาชีพงานอีกต่อไป การมีทักษะหมายความว่าจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญและมักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้ง พบว่าภายในระยะเวลาไม่นานนัก ตำแหน่งงานที่ต้องการกลับกลายเป็นตำแหน่งที่ล้าสมัย ดังนั้น องค์กรจึงต้องก้าวตามการเปลี่ยนแปลงในทิศทางของทักษะงานให้ทันเหตุการณ์ เนื่องจากเกิดความผันผวนของสถานการณ์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว และการใช้ทักษะงานในการวิเคราะห์ตัวแปรจะทำให้มีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถเตรียมการสำหรับอนาคตได้
Linkedin ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงได้พัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า จีโนมทักษะ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความเข้าใจแนวโน้มตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นการนำเสนอแบบดิจิทัลโดยใช้ข้อมูลที่สร้างจากสมาชิกทั่วโลกจำนวน 630 ล้านคนซึ่งมีทักษะมากกว่า 350,000 ประเภท เครื่องมือนี้ทำให้สามารถระบุและวิเคราะห์ทักษะที่ไม่เหมือนใครในตลาดแรงงาน
Linkedin สามารถใช้เครื่องมือนี้ระบุทักษะที่แพร่หลายมากกว่าในด้านหนึ่งเมื่อเทียบกับอีกด้านหนึ่งรวมถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ อุตสาหกรรม ประเภทของงาน หรือลักษณะทางประชากรศาสตร์ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศจีน มีการสำรวจความเคลื่อนไหวในทักษะด้านดิจิทัลในมณฑลที่เปิดกว้างและมีลักษณะทางเศรษฐกิจในเชิงรุก ได้แก่ บริเวณพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า (เกรทเตอร์เบย์แอเรีย) และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี พบว่าบริเวณดังกล่าวมีทักษะแรงงานที่ใช้ระบบดิจิทัลเป็นจำนวนมากและเสิ่นเจ้นเป็นฮับของบุคลากรที่มีความสามารถในระบบดิจิทัลในบริเวณเกรทเตอร์เบย์แอเรีย
นอกจากนี้ ยังพบว่าบุคลากรที่มีความสามารถในมณฑลดังกล่าวส่วนใหญ่มีความรู้ในสาขาหลักด้านการเงินและทางเทคนิควิชาการ และมีทักษะทั่วไปเช่น การบริหารโครงการและความเป็นผู้นำ และมีระดับทักษะด้านดิจิทัลในองค์รวมในระดับต่ำ แต่ถ้าพูดถึงทักษะด้านสังคม (Soft skill) โดยไม่มีทักษะระดับสูงหรือด้านดิจิทัล เช่น ด้านการจัดการ ความเป็นผู้นำและการเจราต่อรอง พบว่ามีสูงกว่าในภูมิภาคดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่าเมืองเซี่ยงไฮ้มีบทบาทสำคัญในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในระดับต้นด้วยทักษะที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนภูมิภาคอื่นๆ และยังพบด้วยว่าตำแหน่งงานที่กำลังโตเร็วที่สุดในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาก็คือตำแหน่งด้านการบริหารระดับอาวุโสและระดับกลางซึ่งครอบคลุมบริการลูกค้า การตลาด การเงิน ผลิตภัณฑ์ การปฏิบัติการและหน้าที่อื่นๆ
ทักษะที่ถูกมองว่ามีการเพิ่มขึ้นสูงสุดอาจแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้ กลุ่มแรก ทักษะด้านหน้าที่การงาน เช่น การตลาดและบริการลูกค้า กลุ่มที่สอง ทักษะทางสังคม เช่น ความเป็นผู้นำ กลุ่มที่สาม ทักษะด้านดิจิทัล เช่น โซเชียลมีเดีย และกลุ่มสุดท้าย ทักษะที่ช่วยเพิ่มมูลค่า เช่น ภาษาอังกฤษ กลุ่มของทักษะบ่งชี้ว่าภูมิภาคสามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซีกำลังเปิดรับโลกได้กว้างขึ้น และทำให้มีการเชื่อมต่อไปยังโอกาสด้านดิจทัลมากขึ้น
ข้อมูลจาก LinkedIn ดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลเอกสารของ WEF ที่ระบุว่าทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
ประการแรกความสามารถในความรู้ขั้นพื้นฐานที่จะนำไปใช้ในชีวิตและหน้าที่การงานในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ การอ่านออกเขียนได้ ความรู้ด้านการคำนวณ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และความรู้ด้านวัฒนธรรมและพลเมือง
ประการที่สอง ความรู้ความสามารถที่ตอบโจทย์ความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้นในโลกปัจจุบันซึ่งได้แก่ การคิดเชิงวิเคราะห์หรือการแก้ไขปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และความร่วมมือหรือการทำงานเป็นทีม
ประการที่สาม คุณลักษณะที่จะช่วยให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งได้แก่ ความอยากรู้อยากเห็น ความคิดริเริ่ม ความเพียรหรือความกล้าหาญ ความสามารถในการปรับตัว ความเป็นผู้นำ ความตระหนักด้านสังคมและวัฒนธรรม
จะเห็นได้ว่ามีความรู้ความสามารถบางอย่างที่เทคโนโลยีอย่างเอไอและหุ่นยนต์ไม่สามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ เช่น ทักษะด้านการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการปรับตัว และความร่วมมือหรือการทำงานเป็นทีม เป็นต้น ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ประชากรโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยและสังคมต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่นำไปสู่การจ้างงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรธุรกิจต่างๆ งานสรรหาทรัพยากรบุคคล สถานศึกษา รวมถึงผู้ให้บริการฝึกอบรม จึงจำเป็นต้องพิจารณาและเตรียมปิดช่องว่างเรื่องของทักษะที่จำเป็นดังกล่าวทั้งในระบบการศึกษาตามปกติ การฝึกอบรมเพิ่มเติม และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถตอบสนองแนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตได้ต่อไป
2. https://widgets.weforum.org/nve-2015/chapter1.html
Related posts
Tags: Future watch, Management Strategy, Social, Strategic Management
Recent Comments