ปัจจุบัน การท่องเที่ยวมีบทบาทเป็นอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทย มีมาตรฐานการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากของสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีทั้งมาตรฐานบริการเพื่อการท่องเที่ยว มาตรฐานกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว มาตรฐานธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ไปจนถึงมาตรฐานอาชีพเพื่อการท่องเที่ยวของผู้ประกอบอาหาร รวมจำนวน 36 มาตรฐาน ส่วนมาตรฐานสากล ไอเอสโอได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 228, Tourism and related services ขึ้นมาเพื่อพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องโดยมีกลุ่มงานที่ทำการพัฒนามาตรฐานถึง 9 กลุ่มงาน มีการพัฒนามาตรฐานไปแล้ว 29 ฉบับและอยู่ระหว่างการพัฒนาอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับความเป็นมาและความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนามาตรฐานสากลดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
ข้อมูลขององค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 พบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีสถิติโดยรวมดีกว่าอุตสาหกรรมอื่น ในปี 2561 นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 6% ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีชีวิตชีวาขึ้น และระบบนิเวศก็กำลังสร้างวิถีของชุมชนขึ้นมาพร้อมกับเกิดปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยการท่องเที่ยวทำให้เกิดการสร้างงานเป็นจำนวนมาก เช่น หนึ่งในสิบคนได้รับการจ้างในงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกิดความเจริญก้าวหน้าและยิ่งเปิดทางให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงการท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น มีการประมาณการว่าภาคส่วนการท่องเที่ยวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในศตวรรษหน้า และเมื่อจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวมีมากขึ้น ส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังมีความสำคัญต่อวัฒนธรรม และมีส่วนร่วมในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทำให้เกิดโลกที่เท่าเทียมกันมากขึ้นด้วย และเมื่อมีการบริหารจัดการที่ดี การท่องเที่ยวจะทำให้เกิดการสนับสนุนทางเศรษฐกิจต่อชุมชนได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเช่นกันเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และเมื่อคนจำนวนมากเข้ามาสำรวจสถานที่ต่างๆ ในเวลาพร้อมๆ กัน จึงอาจทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ อีกทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวยังส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของเสีย และระบบนิเวศที่อาจเสื่อมโทรมลงด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดหมายปลายทางของสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งมีกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่พร้อมสำหรับการยกระดับความยากจน มีการอนุรักษ์ธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกับมรดกโลกหลายแห่งซึ่งได้รับการยกย่องโดยยูเนสโกสำหรับคุณค่าอันโดดเด่นของสากลโลก แต่หากไม่มีแผนการบริหารจัดการอย่างเพียงพอในการป้องกันผลกระทบย้อนกลับของการท่องเที่ยว ก็จะเกิดคำถามที่ว่าแล้วการท่องเที่ยวจะสามารถทำให้เกิดความยั่งยืนได้หรือไม่ ซึ่งไอเอสโอกำลังหาคำตอบปลายทางให้โลกของเรา
มีกรณีศึกษาจากคาบสมุทรไซนายซึ่งล้อมรอบไปด้วยการท่องเที่ยวแบบผจญภัย ทุกปี นักท่องเที่ยวนับล้านคนมาแออัดกันอยู่ที่ทะเลทรายรูปสามเหลี่ยมนี้เพื่อรอรับพระอาทิตย์ขึ้น รอดูปะการังที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และรอเข้าไปเดินป่าลึกที่โอบล้อมด้วยภูเขา มาร์ติน เดนิสัน นักดำน้ำที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้เข้าไปเยี่ยมชมทะเลทรายไซนายครั้งแรกเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา เขามีเป้าหมายที่จะไปที่ทะเลแดงซึ่งเป็นที่พักสำหรับนักดำน้ำเนื่องจากมีปะการังที่สวยงามและปลาที่มีสีสันสวยงามจับใจ เดนิสันอยากทำตามความปรารถนาของตัวเองในการเป็นผู้ฝึก ผู้สอนและนักดำน้ำ งานเหล่านี้ได้นำเขาก้าวไปสู่การพัฒนามาตรฐานในเวลาต่อมา และเขาได้กลายเป็นผู้ประสานงานกลุ่มงานที่พัฒนามาตรฐาน 11 ฉบับ เพื่อให้นักดำน้ำมีความปลอดภัย รวมทั้งการจัดฝึกอบรมและศูนย์ดำน้ำด้วย มาตรฐานเหล่านี้ได้กลายมาเป็นภาษาที่นักดำน้ำและศูนย์ดำน้ำทั่วโลกเข้าใจได้ตรงกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ เดนิสันได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มงานในคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 228 การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนามาตฐานใหม่สองมาตฐานที่เน้นในเรื่องของการดำน้ำอย่างยั่งยืน
สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของเมืองเล็กๆ จำนวนหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่ชาร์มเอลชีค ที่ปลายคาบสมุทรไซนาย บ่งบอกอย่างเห็นได้ชัดว่าทำไมประชาชนจึงต้องการมาตรฐานเหล่านั้น เมื่อ 4 ปีที่แล้ว สถานที่แห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างเพียงหยิบมือและศูนย์ดำน้ำ 3 แห่งในคาบสมุทรทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้ ชาร์มเอลชีคเป็นเมืองที่มีสนามบินนานาชาติและนักดำน้ำก็มาเที่ยวอียิปต์ทุกปีจนกระทั่งมีศูนย์ดำน้ำถึง 300 แห่ง ที่คาบสมุทรไซนายแห่งเดียวก็มีศูนย์ดำน้ำถึง 141 แห่งแล้ว และเรือดำน้ำอีก 130 ลำ เพื่อให้เพียงพอต่อนักผจญภัยใต้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น
การดำน้ำก็เหมือนกับกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ คืออาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญหากปราศจากการควบคุม ในขณะที่กีฬาได้เพิ่มความนิยมมากขึ้น ความยั่งยืนจึงมีความจำเป็นมากขึ้นเช่นกัน
มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำมีอะไรบ้าง โปรดติดตามได้ในตอนต่อไปค่ะ
ที่มา: 1. https://bit.ly/2xUka67
2. https://www.iso.org/news/ref2409.html
3. https://committee.iso.org/home/tc228
ความเห็นล่าสุด