“น้ำ” ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ พืชหรือจุลินทรีย์ ต่างก็ต้องใช้น้ำในการดำรงชีวิต อีกทั้งน้ำยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่เนื่องจากในปัจจุบันเราทราบกันดีว่าสัดส่วนของปริมาณน้ำทั้งโลกเป็นน้ำทะเล 97% และมีน้ำจืดอยู่เพียง 3% ซึ่ง 2 ใน 3 ของน้ำจืดนั้นเป็นน้ำแข็งที่มนุษย์แทบไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลย พร้อมกับการที่โลกมีประชากรที่มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นแต่ความตระหนักถึงความสำคัญของน้ำลดลง ทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหาทรัพยากรน้ำในหลาย ๆ ด้าน ทั้งปริมาณน้ำ คุณภาพของน้ำ และการใช้ทรัพยากรน้ำไม่เหมาะสม รวมถึงการก่อให้เกิดน้ำเสียที่มีแหล่งกำเนิดมาจากชุมชน เมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม เป็นต้น
สาเหตุของปัญหาด้านทรัพยากรน้ำดังที่กล่าวมานั้นเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ด้านปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมการใช้น้ำของคนในพื้นที่ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกปัจจัยนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศอีกด้วย
ปัจจุบัน สถานการณ์น้ำของประเทศในภาพรวม พบว่าปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำต่าง ๆ ยังคงเพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้น้ำ ซึ่งแหล่งที่มาของ “น้ำต้นทุน” ของประเทศไทยมาจากปริมาณน้ำฝนและแหล่งเก็บกัก
ต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาและจัดเก็บในช่วงที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีน้ำต้นทุนสำหรับใช้การได้จากทุกแหล่งน้ำรวม 29,102 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีเพียง 8,719 ล้านลูกบาศก์เมตร
จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำต้นทุนที่จะจัดสรรมีปริมาณเพียงพอต่อพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานและไม่เกิดสภาวะการขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ของประเทศไทยที่ต้องประสบกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือที่รู้จักกันว่า “ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino)” ทำให้ช่วงเวลาของการเกิดฝนและปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นมีความแปรปรวนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสภาวะฤดูแล้งที่ยาวนานกว่าปกติ
ถึงแม้ว่าในบางพื้นที่ของประเทศไทยจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องแต่บางพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งเนื่องจากฝนไม่ตกตามฤดูกาล ซึ่งกลายเป็นปัญหาต่อการบริหารจัดการน้ำต้นทุนและส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร ทำให้บางพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนน้ำเท่าที่ควร การตกอยู่ในสภาวะฤดูแล้งที่ยาวนานนั้นอากาศที่ร้อนจัดทำให้การสูญเสียน้ำจากการระเหยมีมาก น้ำและความชื้นในดินมีน้อย และทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งเก็บกักน้อย
ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาภัยแล้งยังส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในด้านการอุปโภค บริโภคและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศอีกด้วย ซึ่งจากรายงานของโครงการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนด้วย Water Footprint ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก ชี้ให้เห็นถึงปริมาณการใช้น้ำของประเทศไทยที่มีร่องรอยการใช้น้ำต่อหัว (Water Footprint) 2,223 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ถือว่าสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอิตาลีที่มีค่าเฉลี่ย 2,485 และ 2,332 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ตามลำดับ
จากที่กล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของทรัพยากรน้ำคงไม่ใช่แค่ปัญหาของสังคมหรือประเทศ แต่เป็นปัญหาที่คนทั่วโลกจำเป็นต้องช่วยกันแก้ไข เพราะหากเราไม่เริ่มรู้จักการใช้น้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็อาจส่งผลให้เราอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรอย่างรุนแรงได้ ดังนั้น เราจึงต้องตระหนักถึงการรักษาและการใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้เพียงพอกับการดำรงอยู่ได้อย่างสมดุลในระบบนิเวศ
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่เพียงแต่จะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนรุ่นต่อไปเท่านั้น แต่ยังเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติในเรื่องของการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ที่มา:
1. http://www.onep.go.th/topics/61256/
2. http://fic.nfi.or.th/waterfootprint/index.php/component/content/category/79-studybasic
Recent Comments