เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานดัชนีพลวัตของเมือง (City Momentum Index) ประจำปี 2562 โดยกลุ่มบริษัทเจแอลแอล ระบุว่า กรุงเทพมหานครติดอันดับ 18 ใน 20 เมืองที่มีดัชนีพลวัตสูงสุดในโลก แล้วความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวที่สูงมากเช่นนี้จะส่งผลต่อเมืองอย่างไรบ้าง และเมืองควรเตรียมตัวอย่างไร
เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครและเมืองต่างๆ ทั่วโลกต่างมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และมีแรงกดดันด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติจึงให้ความสำคัญกับมาตรฐานใหม่เกี่ยวกับความยืดหยุ่นของเมืองซึ่งหมายความว่าจะต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพการณ์ต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปให้ได้
เมืองใหญ่ที่สุด 600 เมืองทั่วโลกมีจำนวน 20% ของประชากรเท่านั้นแต่สามารถสร้างผลผลิตเป็นจำนวน 60 % ของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และนับวันก็จะทวีจำนวนมากขึ้น
ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ มีการประมาณการว่าภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ประชากร 68% จะอาศัยอยู่ในเมืองและผลกระทบจะมีมากขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ มีตัวอย่างเมื่อปีที่แล้วว่าประชากรมากกว่า 17 ล้านคนจากประเทศญี่ปุ่น บังคลาเทศ อาเจนตินา และสหรัฐอเมริกา ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ และจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติเช่นนี้ก็เกิดบ่อยครั้งขึ้นและทำนายได้ยากมากขึ้น ทำให้เมืองมีความจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนอยู่เสมอ
ทั้งนี้ เริ่มจากการพัฒนามาตรฐานไอเอสโอใหม่สำหรับความยืดหยุ่นของเมือง โดยมีเป้าหมายที่การสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางให้สร้างสมรรถนะเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะระบุกรอบการทำงานเพื่อความยืดหยุ่นของเมือง มีการทำให้หลักการและแนวคิดมีความชัดเจนและช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถระบุการปฏิบัติ นำไปใช้ และติดตามการปฏิบัติอย่างเหมาะสมเพื่อให้เมืองมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
สำหรับการพัฒนามาตรฐานดังกล่าวนำโดยโครงการขององค์การสหประชาชาติสำหรับการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความยืดหยุ่นของเมือง ซึ่งได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากประสบการณ์ของผู้ที่อยู่ในโครงการดังกล่าวมาเป็นเวลา 15 ปี รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมการวิชาการที่รับผิดชอบมาตรฐาน คือ ISO/TC 292, Security and resilience
เอสเตบัน เลออน หัวหน้าของโครงการ City Resilience Profiling ขององค์การสหประชาชาติและเป็นสมาชิกหลักของกลุ่มงานที่พัฒนามาตรฐานดังกล่าวเน้นว่าเมืองที่ยืดหยุ่นต้องประเมิน วางแผน และปฏิบัติเพื่อเตรียมการและตอบสนองต่อความท้าทายได้ไม่ว่าจะเป็นเหตุปัจจุบันทันด่วนหรือไม่ก็ตาม จะเห็นได้ว่าเป็นงานที่มีความยากลำบากในการที่จะทำให้สำเร็จ ดังนั้น เมืองส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น
การพัฒนามาตรฐานใหม่นี้จะดึงข้อมูลจากเอกสารไอเอสโอที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งใช้ความเชี่ยวชาญของผู้ที่มีประสบการณ์จากคณะกรรมการวิชาการไอเอสโออื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 268 ด้วย
คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอดังกล่าวได้พัฒนามาตรฐานไปแล้วรวม 35 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพัฒนามาตรฐานอีก16 ฉบับ ซึ่งเป็นงานที่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลายข้อ โดยเฉพาะข้อ 11 คือ เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable cities and communities) ที่จะทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานมีความปลอดภัยอย่างทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: 1. https://www.prachachat.net/property/news-284736
2. https://www.iso.org/news/ref2412.html
3. https://www.iso.org/committee/5259148.html
ความเห็นล่าสุด