เรื่องของมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว นอกจากจะต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความยั่งยืนแล้ว ยังมีเรื่องของ “ความสามารถในการเข้าถึง” อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าคนทุกคนสามารถเข้าถึงการท่องเที่ยวได้อย่างเท่าเทียมกัน
ใครหลายๆ คนอยากให้วันหยุดเป็นวันเดินทางที่มีความสนุกสนานอย่างเต็มที่และปราศจากความกังวล แต่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ทั่วโลกราวหนึ่งพันล้านคนซึ่งใช้ชีวิตร่วมกับผู้พิการหรือผู้ไร้ความสามารถ อาจจะมีความกังวลอยู่บ้างเมื่อต้องเดินทางไปกับบุคคลเหล่านั้น ซึ่งองค์การสหประชาชาติตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Accessible Tourism ซึ่งสนับสนุนให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงการท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบาย และต่อไปนี้ คือมาตรฐานไอเอสโอบางฉบับที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
เรื่องแรก สำนักงานสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเรียกกันว่าสำนักงานข้อมูลนักท่องเที่ยว มาตรฐาน ISO 14785, Tourism information offices — Tourist information and reception services — Requirements จะช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสถานที่ดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงด้วยการพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในเรื่องดังกล่าว เช่น ประตูทางเข้าและที่จอดรถ ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลด้วยการกระจายข้อมูลซึ่งต้องคำนึงถึงเรื่องของความสามารถในการได้ยินและการมองเห็นด้วย มาตรฐานนี้ยังแนะนำสำนักงานท่องเที่ยวด้วยว่าควรจะช่วยให้ผู้พิการหรือผู้ไร้ความสามารถ สามารถเข้าถึงการท่องเที่ยวหรือเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ได้มากที่สุดด้วยการจัดเตรียมรายชื่อโรงแรม กิจกรรมและการขนส่งเดินทางที่มีการเข้าถึงได้ดีที่สุด
เรื่องที่สอง ผู้ปฏิบัติงานด้านการท่องเที่ยว และการเดินทางต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีและมีความสนุกสนานให้กับลูกค้า ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นที่มาตรฐาน ISO 21902, Tourism and related services — Accessible tourism for all — Requirements and recommendations แนวทางและข้อแนะนำตามมาตรฐานนี้มุ่งไปที่การช่วยเหลือและปรับปรุงการจัดเตรียมความสามารถในการเข้าถึงต่างๆ ซึ่งครอบคลุมข้อมูลทุกสิ่งตั้งแต่การกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ โครงสร้างพื้นฐาน ผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของการท่องเที่ยวทั้งหมด และยังปรับใช้ได้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกประเภท รวมทั้งภาครัฐ และทุกภาคส่วน รวมทั้งพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวในเมืองและในชนบท การจัดสรรที่พัก ผู้ปฏิบัติงานการนำเที่ยวและอื่นๆ
เรื่องที่สาม หาดทรายเป็นสถานที่ที่คนส่วนใหญ่ต้องการไปพักผ่อน ผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้หาดทรายจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการเข้าถึงสำหรับทุกคน และมาตรฐาน ISO 13009, Tourism and related services —Requirements and recommendations for beach operation เป็นมาตรฐานที่เน้นความสำคัญของการทำให้หาดทรายเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเน้นข้อแนะนำสำหรับการเข้าถึงหาดทราย เช่น การออกแบบทางเดินและทางลาด สิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณหาดทราบ เช่น ห้องน้ำ ฝักบัวอาบน้ำ และน้ำพุดื่ม เป็นต้น
เรื่องที่สี่ การท่องเที่ยวที่สัมผัสได้ สำหรับนักเดินทางที่มีอุปสรรคด้านการมองเห็นหรือผู้พิการทางสายตา อักษรเบรลล์เป็นอักษรที่ผู้มีอุปสรรคด้านการมองเห็นสามารถสัมผัสและเข้าใจได้ ดังนั้น ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐาน ISO 17049, Accessible design — Application of braille on signage, equipment and appliances ซึ่ง
จัดเตรียมข้อกำหนดสำหรับอักษรเบรลล์ที่ใช้กันทั่วโลก ซึ่งทำให้นักเดินทางผู้มีอุปสรรคด้านการมองเห็นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในทุกหนทุกแห่งที่เดินทางไปถึง นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐาน ISO 23599, Assistive products for blind and vision-impaired persons —Tactile walking surface indicators ซึ่งช่วยให้สามารถเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น
เรื่องที่ห้า ความสามารถในการเข้าถึงของผู้พิการหรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งมีการคำนึงถึงในมาตรฐานไอเอสโอทั้งหมด ไอเอสโอเข้าใจถึงความจำเป็นของผู้พิการหรือผู้ไร้ความสามารถและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ จึงได้พัฒนามาตรฐาน ISO/IEC Guide 71, Guide for addressing accessibility in standards ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับเน้นความสามารถในการเข้าถึงในมาตรฐาน และได้แนะนำให้คณะกรรมการวิชาการพิจารณาถึงความจำเป็นและความท้าทายของผู้พิการหรือผู้ไร้ความสามารถเมื่อทำหารพัฒนามาตรฐานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เน้นเรื่องระบบที่คนต้องใช้ หรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วยหรือความจำเป็นในการเข้าถึง ซึ่งหมายความว่าผู้พัฒนามาตรฐานจะมีการพิจารณาในมาตรฐานที่เกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและในสถานที่ที่ต้องเดินทางไปถึง
งานบางอย่างเป็นงานที่เราเรียกกันว่าปิดทองหลังพระ งานของไอเอสโอก็เช่นกัน ไอเอสโอและองค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวในเรื่องของความสามารถในการเข้าถึง นอกเหนือจากเรื่องของความปลอดภัยและความยั่งยืน ทำให้คนทั่วโลกได้รับความสะดวกสบายอย่างเท่าเทียมกันโดยที่เราเองก็แทบจะไม่รู้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งที่ทำการพัฒนามาตรฐานต่างๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้น
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2416.html
2. http://ethics.unwto.org/en/content/accessible-tourism
Recent Comments