ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ แต่เราอาจจะไม่ค่อยได้รับรู้มากเท่ากับเรื่องของมลพิษจากขยะพลาสติก ก็คือเรื่องของไฟป่าที่ทำลายชั้นบรรยากาศของโลก เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานข่าวต่างประเทศจากหลายสำนักได้เผยแพร่ข่าวการเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่โดยกล่าวว่า “ปอดของโลกกำลังเกิดเพลิงไหม้”
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้รายงานว่าไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในเขตป่าฝนแอมะซอนนั้นเกิดขึ้นในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เปิดศูนย์วิจัยพื้นที่ของประเทศบราซิล หรือ INPE (Instituto Nacional de Pesquisas Espaciais) เมื่อปี 2556 (ค.ศ.2013) โดยที่ควันของเพลิงไหม้ได้ลอยไปไกลกว่า 17,000 ไมล์ถึงเมืองเซา เปาโล ผู้คนสามารถมองเห็นควันไฟท่ามกลางแดดยามบ่ายซึ่งปกคลุมไปด้วยควันและขี้เถ้า สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียม โดยในปี 2562 เกิดเพลิงไหม้ในเขตป่าฝนจำนวน 72,843 ครั้งในพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของป่าแอมะซอน และเพิ่มขึ้นมากกว่า 80% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว
ป่าแอมะซอนได้ชื่อว่าเป็นปอดของโลกซึ่งผลิตออกซิเจนถึง 20% ในชั้นบรรยากาศโลก และหากนับคร่าวๆ แล้วบริเวณป่าแอมะซอนนั้นเป็นบ้านของสัตว์และพืชจำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งมีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้วย
นอกจากนี้ ภาพจากโครงการดาวเทียมของสหภาพยุโรปที่มีชื่อโคเปอร์นิคัส ยังเผยแพร่แผนที่ซึ่งแสดงเพลิงไหม้และควันที่เกิดขึ้นแล้วกระจายไปทั่วประเทศบราซิลตลอดจนริมฝั่งทะเลแปซิฟิกตะวันออก ควันไฟนั้นปกคลุมเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศและยังทะลักออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าอย่างเปรู โบลิเวีย และปารากวัยด้วย
นักวิจัยของ INPE กล่าวว่า ฤดูแล้งสามารถสร้างสภาพที่เอื้อต่อการเกิดเพลิงไหม้และการขยายขอบเขตออกไป แต่การเกิดเพลิงไหม้นั้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือตั้งใจ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้จะมาจากน้ำมือมนุษย์หรือไฟป่า แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นอาจรุนแรงเกินกว่าที่รัฐบาลหรือองค์กรใดจะรับมือได้ ซึ่งกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ( World Wide Fund for Nature) ได้ออกมาเตือนว่าหากป่าแอมะซอนเกิดเหตุเพลิงไหม้จนถึงจุดที่ไปไกลเกินกว่าจะกลับมาตั้งต้นใหม่ได้แล้ว ป่าฝนแอมะซอนอาจกลายเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าสะวันนาที่แห้งแล้ง ไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิต และอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เรื่องของการเกิดเพลิงไหม้ในประเทศบราซิลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม อาจจะทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวเรา แต่หากย้อนกลับมาดูเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก จะพบว่าเราทุกคนต่างได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและยังส่งผลไปถึงลูกหลานของคนทั้งโลกด้วย และเพื่อช่วยแก้ไขปัญหานี้ องค์การสหประชาติจึงได้จัดทำ Roadmap to Climate Action โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของปฏิบัติการที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนด้านการเงิน การใช้เวลาเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรมที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปรับตัว และการจัดการกับผลกระทบและความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยให้ความสำคัญในประเด็นที่จะส่งเสริมปฏิบัติการดังกล่าวรวม 3 เรื่อง ได้แก่ กลยุทธ์ในการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งรวมถึงการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส การสร้างความตระหนักให้กับสาธารณชนและให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังล่าว และการใช้พลังขับเคลื่อนด้านสังคมและการเมือง
องค์การสหประชาชาติให้ข้อมูลการวิเคราะห์ล่าสุดว่าถ้าทั่วโลกลงมือปฏิบัติการเดี๋ยวนี้ เราจะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ภายใน 12 ปี และโชคดีที่ทั่วโลกต่างให้ความร่วมมือในการทำตามข้อตกลงปารีสแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือทุกภาคส่วนจะต้องจริงจังกับการลงมือปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้เชิญชวนผู้นำทั่วโลกให้มาร่วมประชุมสุดยอดในชื่อ UN Climate Action Summit 2019 ที่เมืองนิวยอร์ก ในเดือนกันยายน 2562 โดยคาดว่าจะสามารถวางแผนงานที่รัดกุมและสามารถทำได้จริงด้วยการสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ มีส่วนร่วมอย่างจริงจังภายในปีหน้าไปพร้อมๆ กับการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายใน 10 ปีข้างหน้าและลดลงได้อย่างสิ้นเชิง (0%) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)
ที่มา: 1.https://edition.cnn.com/2019/08/21/americas/amazon-rainforest-fire-intl-hnk-trnd/index.html
2. https://www.businessinsider.com/amazon-rainforest-fires-breaking-records-2019-8?r=US&IR=T
Related posts
Tags: Climate Change, Environmental Management, Sustainability Management
Recent Comments