ปัจจุบัน โลกของเรามีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ มากมายอย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่อำนวยความสะดวกให้กับประชากรโลกเป็นอย่างมาก จนกระทั่งบางครั้ง เราอาจจะลืมนึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นภายใต้การพัฒนาเหล่านั้น หนึ่งในผลกระทบที่สำคัญก็คือ “น้ำเสีย” (Wastewater) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดใหญ่ ๆ มาจากโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้งการใช้น้ำ (Water Use) ของมนุษย์
นอกจากนี้ ทั่วโลกยังคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้นมากกว่าทศวรรษที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ และยิ่งความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ปริมาณของน้ำเสียและภาระมลพิษทางน้ำก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
จากรายงานขององค์การสหประชาชาติเรื่องน้ำของโลกเมื่อปี 2560 (The United Nations World Water Development Report 2017) ได้มีการรายงานการบำบัดน้ำเสียทั่วโลก ซึ่งพบว่าโดยเฉลี่ยประเทศที่มีรายได้สูงสามารถบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 70% ของน้ำเสียจากชุมชนและน้ำเสียจากอุตสาหกรรม แต่สำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางตอนบนค่อนไปทางสูง ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ และประเทศที่มีรายได้ต่ำมีการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพียง 38%, 28% และ 8% เท่านั้น (ตามลำดับ) ซึ่งจากการรายงานเหล่านี้ สนับสนุนข้อมูลที่ระบุว่า น้ำเสียทั่วโลกทั้งหมดกว่า 80% ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรงและไม่ได้รับการบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ เว็บไซต์ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กล่าวว่าคุณภาพน้ำเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สังคมจะต้องเผชิญในช่วงศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นภัยคุกคามสุขภาพของมนุษย์ ระบบนิเวศ และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมลภาวะที่เลวร้ายยิ่งขึ้นของแหล่งน้ำจืดซึ่งเกิดจากการกำจัดของเสียจำนวนมากที่ได้รับการบำบัดไม่เพียงพอหรือไม่ได้รับการบำบัดแต่กลับปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ อีกทั้ง UNESCO ได้รายงานถึงความจริงเรื่องน้ำที่เกิดขึ้นกับประชากรบนโลกที่ต้องประสบกับปัญหาอันจากสาเหตุของคุณภาพไม่รับการตรวจสอบและการจัดการที่เหมาะสม โดยชี้ให้เห็นว่า
- 1 ใน 9 ของคนทั่วโลกใช้น้ำดื่มจากแหล่งที่ไม่สะอาดและไม่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพ
- ผู้คน 2.4 พันล้านคน ต้องใช้ชีวิตอยู่โดยไม่สามารถเข้าถึงการสุขาภิบาลที่ดีและเกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลกยังต้องถ่ายอุจจาระในระบบเปิด จึงนับว่าการขาดสุขอนามัยเป็นหนึ่งในรูปแบบที่สำคัญที่สุดของมลพิษทางน้ำ
- ทุกๆ วัน มีน้ำเสียและน้ำทิ้งอื่น ๆ รวม 2 ล้านตันถูกปล่อยไหลลงสู่แหล่งน้ำของโลก
- อุตสาหกรรมต่าง ๆ ปล่อยขยะประมาณ 300-400 เมกะตันลงในแหล่งน้ำทุกปี ซึ่งสิ่งของที่เจือปนนั้นสามารถทำให้ผู้ที่สัมผัส จะโดยทางผิวกายหรือบริโภคหรือหายใจกลิ่นไอเข้าไป เกิดพยาธิสภาพได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การก่อให้เกิดโรคนั่นเอง ซึ่งเรียกกันว่า โรคเหตุมลพิษทางน้ำ
- การลดลงประมาณ 1 ใน 3 ของความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก คาดว่าเป็นผลมาจากมลพิษของแหล่งน้ำและระบบนิเวศทางน้ำ
- การนำน้ำเสียจากการเกษตรกลับมาใช้ใหม่เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิต และผู้คนเหล่านั้นยังมีความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพอย่างร้ายแรง
เมื่อความกังวลเรื่องน้ำเสียมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้องค์กรทุกขนาดทุกประเภทเริ่มตระหนักถึงการใช้น้ำภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงต้องการที่จะบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเริ่มหันมาสนใจในการใช้ระบบน้ำหมุนเวียน (Reclaimed water) โดยการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในทุก ๆ ขั้นตอนของการผลิตสินค้าหรือบริการขององค์กร และเป็นการลดปริมาณการปล่อยน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วโลกภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) โดยเป้าหมายที่ 6 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีความพร้อมและการจัดการน้ำและสุขอนามัยอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน มีการพัฒนามาตรฐานไอเอสโอใหม่สำหรับระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ มาตรฐาน ISO 46001: 2019, Water efficiency management systems — Requirements with guidance for use ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถประเมินและจัดทำบัญชีการใช้น้ำ เพื่อวางแผนและดำเนินการตามมาตรการ นำไปสู่การบรรลุสมรรถนะของการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพขององค์กร อีกทั้งยังช่วยให้องค์กรได้รับการยอมรับและเป็นการพัฒนาองค์กรอีกด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ชี้ให้เห็นว่าปัญหาด้านคุณภาพน้ำไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นความท้าทายของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรมและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงภาครัฐอีกด้วย ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องช่วยกันดูแลและแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำให้ถูกสุขลักษณะสำหรับการอุปโภคและบริโภคสำหรับประชาชนอย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/standard/68286.html
Related posts
Tags: Quality, safety, Standardization, Sustainability
Recent Comments