ไม่มีใครปฏิเสธว่าปัจจุบัน การดำเนินงานของทุกองค์กรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก ไอเอสโอมองเห็นว่าความไม่แน่นอนทางการค้าและเศรษฐกิจ ความคาดหวังทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอลได้กลายเป็นตัวผลักดันสำคัญที่ดิสรัปท์การดำเนินงานของไอเอสโอเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ไอเอสโอจึงได้จัดการประชุม ISO Week 2019: On the path to 2030 ระหว่างวันที่ 16 – 20 กันยายน 2562 ที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ เพื่อปรึกษาหารือกับประเทศสมาชิกเกี่ยวกับเรื่องของกลยุทธ์ในอนาคตขององค์กรที่จะก้าวไปสู่ปี 2573 (ค.ศ.2030)
โจดี ชอลเทส หัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มของกรมการค้าและอุตสาหกรรมแห่งแอฟริกาใต้กล่าวว่า หากปราศจากมาตรฐานที่เหมาะสม ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำเรื่องความท้าทายในระดับประเทศและในระดับสากล เนื่องจากการมาตรฐานมีการจัดเตรียมเครื่องมือเพื่อบรรลุความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนเพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัวท่ามกลางสภาพแวดล้อมอื่นๆ ด้วย เช่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ การดูแลสุขภาพ เป็นต้น
จากการประชุมหารือดังกล่าว พบว่ามีแนวโน้ม 4 ประการที่ส่งผลต่อการกำหนดกลยุทธ์ในอนาคตของไอเอสโอ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการค้า ความคาดหวังทางสังคมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคและสังคม ความเร่งด่วนในเรื่องความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอล
ประการแรก ความไม่แน่นอนทางการค้าที่มีมากขึ้น ชอลเทส เน้นว่ามาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในการที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยปราศจากความเหลื่อมล้ำหรือเกิดความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด โลกาภิวัฒน์ได้ทำให้เกิดความสามารถและสมรรถนะในการผลิตแบบใหม่ที่มีกำลังการผลิตขนาดมหาศาล อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ยังทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและผลกำไรทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา และยิ่งหนทางแห่งการเติบโตอย่างเท่าเทียมกันมีความมั่นคงมากขึ้นเท่าใด การมาตรฐานก็จะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการเติบโตมากขึ้นเท่านั้น
ส่วนจอห์น วอลเตอร์ ประธานไอเอสโอ กล่าวว่าเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญมากที่สุดของการเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทในการฟื้นฟูความมั่นใจในคุณค่าของการค้าเสรีและการค้าพหุภาคี
แคทเธอรีน แกรนท์เมโคเครา ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงการเพิ่มขึ้นของประชาชาติทางเศรษฐกิจ ระดับการปกป้องทางการค้าพหุพาคีที่เพิ่มขึ้น แต่ทำให้มีความมั่นใจน้อยลงเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการค้าที่เกิดขึ้นมาและในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ดัชนีความไม่แน่นอนทางการค้าโลกกำลังทำให้การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลดลงไป
ประการที่สอง ความคาดหวังทางสังคมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคและสังคม ซึ่งเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งที่ไปดิสรัปท์จนเกิดผลกระทบต่อโลกอย่างเห็นได้ชัดรอบๆ ตัวเรา ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจแบ่งปันซึ่งบุคคลสามารถยื่นข้อเสนอในสินทรัพย์ส่วนบุคคลของตนเองให้กับสมาชิกคนอื่นในชุมชนได้ รูปแบบเศรษฐกิจใหม่นี้นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ของผู้ควบคุมกฎและผู้กำหนดนโยบายซึ่งการมาตรฐานจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้ มาร์ค แอทวูด ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชั่นเจอร์นีย์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการแบ่งปันทรัพยากรด้านการขับขี่กล่าวว่ามาตรฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจแบ่งปัน
ถามว่าผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นมาในรถของเราในการเดินทางไกลส่งผลกระทบต่อประกันภัยของเราไหม แล้วมีการเปลี่ยนแปลงไหมถ้ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาในรถของเราและถูกค้นพบด้วยแอปพลิเคชั่นหรือเครือข่ายส่วนบุคคลของเพื่อนๆ ที่เพิ่มขึ้นมาในรถของเรา ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดในเรื่องนี้
ทาริน แดเนียลส์ จากสมาคมการค้าผู้บริโภคแห่งแอฟริกาใต้กล่าวเน้นว่ามาตรฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแบ่งปันแต่ก็เป็นธรรมชาติที่จะไปดิสรัปท์วิวัฒนาการต่างๆ ด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่ปฏิเสธในการปรับตัวให้เข้ากับโมเดลธุรกิจใหม่ อาจจะพ่ายแพ้ให้กับระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน
ประการที่สาม ความเร่งด่วนในเรื่องความยั่งยืน คำถามสำคัญคือสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืนคืออะไร เรจินา ซาริโอทิส จาการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ใช้ตัวอย่างที่ทำให้มองเห็นได้อย่างเด่นชัดในเรื่องของการขนส่งระดับโลกว่าการค้าระหว่างประเทศซึ่งขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงการขนส่งที่ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมเช่น การเกิดพายุที่รุนแรง น้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความชื้น หรือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างกะทันหัน เป็นต้น จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างท่าเรือ ซึ่งทำให้เราต้องทำการประเมินความเสี่ยงให้ดีขึ้นและเตรียมพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้
ประการสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอล ผลกระทบของดิจิตอลอยู่รอบๆ ตัวเราโดยมีการเรียกร้องให้ชุมชนมีมาตรฐานเพื่อดูแลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอล ซึ่งวิทยากรในงานให้ความสนใจกับวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและการรับเอาเทคโนโลยีดิจิตอลไปใช้อาจหมายความถึงธุรกิจและสังคมด้วย ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิตอลนั้นหมายรวมถึงธุรกิจด้วยหรือไม่ เทคโนโลยีดิจิตอลเปลี่ยนแปลงวิธีของการค้าอย่างไร และเทคโนโลยีดิจิตอลกำลังขับเคลื่อนการเติบโตและนวัตกรรมของผู้ประกอบการอย่างไร เป็นต้น
ปัจจุบัน มีการรับเอาเทคโนโลยีดิจิตอลไปใช้ในธุรกิจต่างๆ อย่างกว้างขวางและมีความก้าวหน้าใหม่ๆ ด้วย เช่น ระบบอัตโนมัติ เอไอหรือบล็อคเชน ซึ่งทำให้เกิดโอกาสที่หลากหลายสำหรับองค์กร ช่วยสนับสนุนความมีประสิทธิผลและผลิตผล สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและส่งเสริมนวัตกรรม
เมื่อแนวโน้มทั้งสี่ประการผนวกกันเข้า ซึ่งได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการค้าและเศรษฐกิจ ความคาดหวังทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความเร่งด่วนเพื่อความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอล จึงทำให้เกิดแรงผลักดันที่ดิสรัปท์การค้าซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางกลยุทธ์ในอนาคตของไอเอสโอเพื่อก้าวไปสู่ปี 2030
ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของไอเอสโอดังกล่าว การมาตรฐานไม่เพียงแต่จะต้องตอบสนองต่อความท้าทายของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นบทบาทสำคัญของไอเอสโอในการสนับสนุนให้โลกของเราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2436.html
2. https://www.iso.org/contents/event/2019/iso-week-2019.html
Related posts
Tags: Quality, Standardization, Sustainability
Recent Comments