ย้อนไปในปี 2455 (ค.ศ.1912) ซึ่งเกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญคนทั่วโลก คือ การล่มลงสู่ท้องทะเลของเรือสำราญไททานิค ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความปลอดภัยทางทะเล และทำให้เกิดการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยของชีวิตในทะเล (International Convention for the Safety of Life at Sea: SOLAS) ที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 2457 (ค.ศ.1914) และต่อมาเมื่อปี 2491 (ค.ศ.1948) องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Martime Organization: IMO) จึงถือกำเนิดขึ้นภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติในชื่อ Intergovernmental Maritime Consultative Organization (IMCO) จนกระทั่งเมื่อปี 2501 (ค.ศ.1958) ได้เปลี่ยนชื่อเป็นองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
จากภาพยนตร์เรื่องไททานิค ทำให้เราพอจะทราบว่าในอดีตนั้น ผู้ชายเป็นเพศที่ได้รับการยอมรับและทำงานด้านการเดินเรือมากกว่าผู้หญิงซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยหรือเรื่องอื่นก็ตาม แต่ปัจจุบัน สถานการณ์นั้นได้เปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้น โดยมีข้อมูลจาก IMO พบว่ามีผู้หญิงที่ทำงานด้านการเดินเรือราว 2% ของจำนวนผู้ที่ทำงานการเดินเรือทั้งหมดจำนวน 1.2 ล้านคน และองค์การสหประชาชาติก็ยังได้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ด้วย
วันทางทะเลโลก (World Maritime Day) ตรงกับสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนของทุกปี และหลายประเทศกำหนดให้ตรงกับวันที่ 26 กันยายนของทุกปี สำหรับปีนี้ ได้มีการให้ความสำคัญและให้กำลังใจกับผู้หญิงให้เข้ามามีส่วนร่วมในวันทางทะเลโลกมากขึ้นโดยกำหนดให้หัวข้อการรณรงค์เป็นเรื่องของการทำให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในชุมชนทางทะเลมากขึ้น
สำหรับไอเอสโอ ได้มีการยอมรับให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนรวมทั้งด้านการเดินเรือ ซึ่งอันที่จริงแล้ว คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 8, Ships and marine technology และคณะอนุกรรมการรวมทั้งกลุ่มงานเหล่านี้ดำเนินการโดยผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่
จิง หวัง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ทำงานในคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 8 กล่าวว่าการทำงานในอุตสาหกรรมทางทะเลถือเป็นสิทธิพิเศษอย่างหนึ่งเนื่องจากเป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ และเนื่องจากมหาสมุทรไปจนถึงอุตสาหกกรรมทางทะเลมีการเชื่อมต่อกับโลก จึงถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโลกของเราที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม ชื่อเสียงในอุตสาหกรรมนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าถูกยึดครองโดยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงก็เป็นตัวแทนในหลายๆ ด้านและมีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างโดดเด่นเช่นกัน
ไอเอสโอเป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้ปฏิญาณว่าจะดำเนินงานด้วยการให้ความสำคัญกับทั้งเพศชายและเพศหญิงอย่างเท่าเทียมกันและเป็นเครือข่ายผู้นำที่ทำให้ทั้งชาญและหญิงทลายอุปสรรคทางเพศลงแล้วมีการตัดสินใจร่วมกันอย่างเท่าเทียมกัน ดังตัวอย่างที่มีผู้หญิงจำนวนมากทำงานอยู่ในคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 8 ซึ่งได้พัฒนามาตรฐานสากลไปแล้วมากกว่า 340 ฉบับและอยู่ในระหว่างพัฒนาเอกสารสำหรับอุตสาหกรรมทางทะเลอีกมากกว่า 120 ฉบับ โดยเลขาธิการไอเอสโอได้สนับสนุนให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในคณะกรรมการวิชาการต่างๆ รวมทั้งสมาชิกของไอเอสโอหรือแม้แต่งานของสำนักงานเลขาธิการไอเอสโอด้วย
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2439.html
2.http://www.imo.org/en/OurWork/TechnicalCooperation/Pages/WomenInMaritime.aspx
3.https://www.pineapplenewsagency.com/th/c666/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81+World+Maritime+Day
Related posts
Tags: Quality, safety, Standardization, Sustainability
Recent Comments