การมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญและทำให้ไอเอสโอมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการส่งมอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของโลกเพื่อก้าวสู่อนาคตได้ ทั้งนี้ เป็นข้อมูลจากการประชุมของไอเอสโอในงานสัปดาห์ไอเอสโอ 2019 เมื่อวันที่ 16 – 20 กันยายน 2562 ที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้
จอห์น วอลเตอร์ ประธานไอเอสโอ ได้กล่าวถึงงานสัปดาห์ไอเอสโอ 2019 ว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขประเด็นปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก หรือแรงกดดันจากภัยคุกคามต่อทรัพยากร
ลีนา ดาร์กแฮม ประธานคณะกรรมการ DEVCO กล่าวว่า ในสัปดาห์ดังกล่าว ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสที่ไม่เหมือนใครในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนากลยุทธ์ของไอเอสโอปี 2030 และมีการสนับสนุนให้ทุกคนใช้โอกาสนี้ในการมีส่วนร่วมในการประชุมและการอภิปราย ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาและการประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสมัชชาใหญ่ของไอเอสโอซึ่งเน้นเรื่องของการกำหนดกลยุทธ์ในอนาคต
ผู้เข้าร่วมงานสัปดาห์ไอเอสโอ 2019 ต่างให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น เฮอร์มาน วอร์เรน ผู้อำนวยการเครือข่ายของแอฟริกาแห่งดิอีโคโนมิสต์กล่าวว่า เรากำลังมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในพลังของเศรษฐกิจโลกที่ต้องนึกถึงเมื่อมีการตีแผ่อนาคตขององค์กรอย่างไอเอสโอ
มองย้อนกลับไปเมื่อปี 2386 (ค.ศ.1843) วารสารดิอีโคโนมิสต์ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เศรษฐกิจโลกในตอนนั้นถูกครอบงำโดยประเทศสหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส แต่ในศตวรรษที่ 20 โลกมองเห็นการเติบโตขึ้นของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันเรามองเห็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่ฝั่งตะวันออก
เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกทุกวันนี้อยู่ที่สหรัฐอเมริกาและจีนแต่ภายในปลายศตวรรษนี้ เราคาดหวังที่จะเห็นประเทศจีนมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดตามด้วยสหรัฐอเมริกา และอินเดีย
สำหรับเบอร์นาร์โด ดาลวิยา ซารเมียนโต ผู้อำนวยการหน่วยงานการค้า การลงทุน และนวัตกรรมแห่งองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) กล่าวว่า ปัจจุบัน การค้าเติบโตขึ้นจนกระทั่งไม่มีความยั่งยืน โลกของเราจึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์ทุกฝ่าย รวมไปถึงชุมชนเล็กๆ ด้วย
วิลเลียม เกน ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์โลกของหน่วยงานการบริหารจัดการชายแดนและการอำนวยความสะดวกทางการค้าของกลุ่มธนาคารโลกกล่าวว่าสำหรับประเทศกำลังพัฒนา การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกมีความสำคัญมากแต่ทางเลือกนโยบายที่มีมากขึ้นและแรงผลักดันเกี่ยวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้จำเป็นต้องมีการรักษาผลประโยชน์ไว้ในระยะยาวและมีการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกัน
การเน้นไปที่ความท้าทายเหล่านี้เพื่อสร้างพลังให้กับประเทศกำลังพัฒนานั้น ต้องดำเนินการอย่างใกล้ชิดและมีการให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับโลก เช่น ความร่วมมือระดับสากลระหว่างองค์กรอย่างไอเอสโอ องค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การศุลกากรโลก (WCO) ซึ่งแนวทางระดับโลกเหล่านี้จะมีคำตอบให้
จอห์น วอลเตอร์ ประธานไอเอสโอก็เน้นเช่นกันว่าการทำงานร่วมกันทำให้เกิดพลังอำนาจซึ่งเราจำเป็นต้องมีองค์กรแบบนี้ทำงานร่วมกันและต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อบรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกัน และแก้ไขปัญหาให้กับโลกของเรา
สมาชิกของไอเอสโอได้สร้างร่วมมือกับองค์กรระดับสากลมาอย่างยาวนานและร่วมกันสร้างสรรค์มาตรฐานสากลและแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐาน และปัจจุบัน ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน การทำงานร่วมกันเท่านั้นที่ทำให้โลกของเราสามารถบรรลุวัตถุประสงค์มากขึ้นในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนเช่นนี้
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2433.html
2. https://ga2019.iso.org/welcome.html
Related posts
Tags: Economy, ISO, Standardization
Recent Comments