จากรายงานของยูนิเซฟหรือกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ พบว่าประชากรเด็กของโลก มีหนึ่งในสามคนที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ประสบปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ หากไม่มีน้ำหนักน้อยเกินไปก็มีน้ำหนักมากเกินไป ไอเอสโอจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้
ปัจจุบันโลกกำลังประสบปัญหาวิกฤตด้านโภชนาการ มีประชากรโลกมากกว่า 800 ล้านคนประสบกับความหิวโหย และในจำนวนที่ใกล้เคียงกันนี้ ประสบกับปัญหาโรคอ้วน ขณะเดียวกัน อย่างน้อยเด็กจำนวนครึ่งหนึ่งที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีก็ประสบกับปัญหาการขาดวิตามิน และโรคอ้วนในเด็กก็ยังคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โลกาภิวัตน์ ความเป็นเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งทางการเมืองได้ส่งผลต่อสถานการณ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในหลายรูปแบบ และเนื่องในวันอาหารโลกซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี ปีนี้ ยังคงมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยการส่งเสริมความตระหนักในระดับโลกและลงมือทำบางอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าประชากรโลกจะปราศจากความหิวโหยและมีภาวะโภชนาการที่ดี
ไอเอสโอมีมาตรฐานมากกว่า 1,600 ฉบับสำหรับสาขาการผลิตอาหารที่ทำเพื่อปรับปรุงวิธีการทางเกษตรกรรมและการกระจายสินค้าและส่งเสริมการผลิตอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความปลอดภัยของอาหารและโภชนาการด้วย นอกจากนี้ มาตรฐานดังกล่าวยังมีส่วนร่วมโดยตรงต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อ 2 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยุติความหิวโหย ทำให้บรรลุความมั่นคงด้านอาหารและปรับปรุงโภชนาการรวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนให้ได้ภายในปี 2030
มาตรฐานในตระกูล ISO 22000 ด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยของอาหารช่วยให้องค์กรระบุและควบคุมเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหาร ไอเอสโอมีมาตรฐานจำนวนหนึ่งที่มีเป้าหมายในเรื่องวิธีการผลิตที่มีความรับผิดชอบและความยั่งยืน เช่น มาตรฐาน ISO 26000 เพื่อความรับผิดชอบทางสังคม และมาตรฐาน ISO 20400 เพื่อการจัดซื้อที่ยั่งยืน ซึ่งช่วยส่งเสริมสภาพการทำงานที่มีจริยธรรมและส่งเสริมวิธีปฏิบัติในการจัดซื้อที่มีจริยธรรมตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตอาหาร
การพัฒนาเมื่อเร็วๆ นี้ ข้อกำหนดทางเทคนิควิชาการ ISO/TS 26030 ในภาคส่วนอาหารในการนำมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้ จะมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการยุติความหิวโหยและโภชนาการที่ดีขึ้นทั่วโลก
มาตรฐานมีการให้แนวทางที่ชัดเจนถึงวิธีการที่จะรวมเอาประเด็นหลักของความรับผิดชอบทางสังคมเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร จึงสามารถกระตุ้นให้ธุรกิจสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีจริยธรรมและมีความยั่งยืน
ไอเอสโอมีมาตรฐานอื่นๆ อีกหลายมาตรฐานรวมทั้งเอกสารแนวทางสำหรับบางภาคส่วนที่ต้องใช้เรื่องเฉพาะทางเป็นพิเศษ เช่น ชุดมาตรฐาน ISO 34101 เกี่ยวกับโกโก้ที่สามารถสอบกลับถึงที่มาได้และมีความยั่งยืนซึ่งไอเอสโอเพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ มีการให้แนวทางวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเกษตรกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการสอบกลับถึงแหล่งที่มาของเมล็ดโกโก้ได้ดีขึ้น และมีสภาพการทำงานที่มีการปรับปรุงเพื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งซัพพลายเชนของการผลิตโกโก้
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ดีคือ เอกสารความตกลงเชิงปฏิบัติการสากลที่มีชื่อว่า IWA 29, Professional farmer organization – Guidelines ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างองค์กรที่มีเจ้าของฟาร์มที่เป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของฟาร์มรายเล็กที่กำลังเข้าสู่ตลาด เพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาดโลกได้
นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานอีกหลายฉบับที่ช่วยยกระดับภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ISO 4254 Agricultural machinery, ISO 15077 Tractors and self-propelled machinery for agriculture, ISO 22005 Traceability in the feed and food chain, ISO/TS 22002 Prerequisite programs on food safety, ISO/TS 15495 Milk, milk products and infant formulae-Guidelines for the quantitative determination of melamine and cyanuric acid by electrospray ionization liquid chromatography tandem mass spectrometry (LC-MS/MS) เป็นต้น
มาตรฐานอาหารที่ไอเอสโอพัฒนาขึ้นมานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งภาคการเกษตรด้วย ทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากแนวทางและวิธีปฏิบัติของมาตรฐานไอเอสโอนับตั้งแต่การเพาะปลูก ไปจนถึงการผลิตและการบรรจุหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการตอบสนองต่อกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ และทำให้เกิดความปลอดภัยและความยั่งยืน ซึ่งสามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาของโลกในด้านโภชนาการและการยุติความหิวโหยได้
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2442.html
2. https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/archive/pdf/en/iso_and_food_en.pdf
Related posts
Tags: Agriculture, safety, Standardization, Sustainability
Recent Comments