สืบเนื่องจากทรัพยากรน้ำของโลกกำลังเป็นประเด็นปัญหาต่าง ๆ มากมายในสถานการณ์ปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตและพัฒนาประเทศในอนาคต ประเทศต่าง ๆ จึงไม่สามารถปฏิเสธการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำได้ สำหรับบทความฉบับนี้เรียบเรียงจากกรณีตัวอย่างโมเดลการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศจากต่างประเทศซึ่งสามารถตอบสนองและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของประเทศเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิผล
กรณีตัวอย่างแรก ในประเทศอิสราเอล ที่ประสบกับวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2547 ทำให้อิสราเอลได้รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งองค์กรที่จัดการน้ำโดยเฉพาะขึ้น มีการกำหนดกฎระเบียบเพื่อการจัดการที่ชัดเจน และนำเทคโนโลยีวิศวกรรมด้านการจัดการน้ำเข้ามาช่วยแยกเกลือออกจากทะเล (Seawater Desalination) ซึ่งกลายเป็นกุญแจสำคัญในการผันน้ำจากทะเลมาแปลงเป็นน้ำจืดเพื่อใช้ภายในประเทศ รวมทั้งยังมีการนำน้ำเสียและน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Reclamation) ในภาคการชลประทานและการเกษตร
กรณีตัวอย่างที่สอง เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2514 (ค.ศ.1971) ภาครัฐจึงดำเนินนโยบายการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยมาตรการการอนุรักษ์น้ำ 3 กลยุทธ์ คือ 1) กำหนดกลไกสร้างราคาและเพิ่มมูลค่าน้ำ 2) กำหนดข้อบังคับ อาทิ ต้องมีฉลากประหยัดน้ำติดกำกับเครื่องใช้ และ 3) ใช้ความสมัครใจ โดยให้ประชาชนคิดหาวิธีประหยัดน้ำในชุมชน อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อนำน้ำที่ผ่านการอุปโภคบริโภคแล้วมาใช้ซ้ำโดยผ่านกระบวนการทำให้น้ำสะอาดขนาดที่สามารถบริโภคได้ (NEWater) และเทคโนโลยีการกำจัดเกลือออกจากน้ำทะเล (Desalinated Water) เพื่อให้ได้น้ำคุณภาพดีพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคของประชาชน
ในบริบทของประเทศไทย เนื่องด้วยสถานการณ์ความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำฝนและสถานการณ์ภัยแล้งที่เราต้องเผชิญ ทำให้บางพื้นที่เกิดวิกฤตการขาดแคลนน้ำและบางพื้นที่เกิดปัญหาอุทกภัย รวมถึงการประสบปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ดี เพื่อรองรับกับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นและป้องกันสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น
นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้กล่าวถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ในเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว. ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ ว่ายังมีความท้าทายอยู่อีกมาก โดยข้อมูลแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี มีเป้าหมาย 6 ด้าน คือ
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าประสงค์เพื่อจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ชุมชนเมือง รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต มีเป้าประสงค์เพื่อจัดหาน้ำต้นทุนสร้างความมั่นคงในภาคการผลิตเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีเป้าประสงค์เพื่อลดความเสียหายจากอุทกภัยของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ บรรเทาความเสียหายและสนับสนุนการปรับตัวในพื้นที่เกษตร
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ มีเป้าประสงค์เพื่อให้แหล่งน้ำมีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 201 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย 47 แห่ง
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน มีเป้าประสงค์เพื่อปรับสมดุลระบบนิเวศ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ 4.77 ล้านไร่ และป้องกันการสูญเสียหน้าดินและพื้นดินถล่ม
- ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างการบริหารที่มีเอกภาพโดยผลักดันให้มีองค์กร กฎหมาย และนโยบายขับเคลื่อน มีระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการวางแผน มีแผนประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และมีการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม แผนยุทธศาสตร์ที่ดีจะต้องสามารถป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น เทคโนโลยีการจัดการน้ำ อาจไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน และหากวันนี้ เรายังมองข้ามปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำอยู่ ปัญหาก็จะถูกสะสมไปเรื่อย ๆ จนอาจสายเกินไปที่จะกลับมาฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคได้อีก ดังนั้น จะดีกว่าไหมหากวันนี้เราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรใด จะร่วมมือกันเดินตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อจัดการกับปัญหาเรื่องน้ำที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นไปจากวิกฤตน้ำที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนต่อไป
ที่มา: 1. https://www.israel21c.org/how-israel-swims-against-tide-of-worldwide-water-crisis/
2. http://www.onwr.go.th/?page_id=4207
Related posts
Tags: Environment, Sustainability Management, water management
Recent Comments