นักวิทยาศาสตร์มากกว่า 11,000 คนใน 153 ประเทศ มีความเห็นตรงกันว่าภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามที่กำลังจะทำให้โลกเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล และยังเป็นภัยที่เกิดขึ้นรวดเร็วเกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ พร้อมทั้งได้ร่วมกันลงนามในเอกสาร Statement on climate change เมื่อเร็วๆ นี้ (4 November 2019 เป็นวันที่ทรัมป์ประกาศถอนตัวอย่างเป็นทางการ)
เอกสารดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ในวารสารไบโอซายส์ ซึ่งมีการวิเคราะห์แนวโน้มในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งรวมถึงเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานฟอสซิล การหยุดตัดไม้ทำลายป่าไปจนถึงเรื่องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์
นักวิทยาศาสตร์ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อที่จะทำให้อนาคตที่ยั่งยืนเกิดขึ้นจริง เราจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตบนโลกนี้โดยการคำนึงถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับระบบนิเวศตามธรรมชาติ
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าโลกของเราไม่มีเวลาจะเสียอีกต่อไปแล้ว วิกฤตภาวะโลกร้อนได้มาถึงแล้วและรุนแรง รวดเร็วกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้มาก ทำให้เป็นภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติและมนุษยชาติ
ศาสตราจารย์วิลเลียม ริพเพิล จากมหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท และผู้เขียนเอกสารร่วมได้กล่าวว่าพวกเขาได้รับแรงผลักดันให้ริเริ่มจัดทำเอกสารดังกล่าวเนื่องจากได้เห็นแล้วว่าโลกกำลังเผชิญกับสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว ดังนั้น จึงมีเป้าหมายหลักในการกำหนดตัวชี้วัดที่บ่งบอกสัญญาณของอันตรายและผลของภาวะโลกร้อนมากกว่าแค่เพียงแก้ไขปัญหาการปลดปล่อยภาวะโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลก ซึ่งตัวชี้วัดที่ควรมีการติดตามนั้นรวมถึงความเจริญเติบโตของจำนวนประชากร การบริโภคเนื้อสัตว์ การสูญเสียป่าไม้ การบริโภคพลังงาน การอุดหนุนพลังงานฟอสซิล และการสูญเสียทางเศรษฐกิจรายปีไปจนถึงเหตุการณ์สภาวะอากาศแบบสุดขั้ว
ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงใช้ตัวชี้วัดเหล่านั้นเป็นสัญญาณเตือนภัยอันตรายให้ผู้กำหนดนโยบาย และสาธารณชนมีความเข้าใจว่าวิกฤตครั้งนี้มีความรุนแรงเพียงใด และจำเป็นต้องมีการจัดลำดับความสำคัญในปฏิบัติการต่างๆ รวมทั้งมีการติดตามความก้าวหน้าด้วย
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกมาส่งสัญญาณเตือนภัยโลกร้อน เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 40 ปีของการประชุมภาวะโลกร้อน และเพียงแค่วันเดียวก่อนการเผยแพร่เอกสารดังกล่าว สหรัฐอเมริกาก็ได้ออกมาแจ้งองค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการว่าจะถอนตัวจากข้อตกลงปารีส
ย้อนไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกรวม 50 ประเทศได้มาพบกันในการประชุมภาวะโลกร้อนครั้งแรกเมื่อปี 2522 (ค.ศ.1979) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเห็นพ้องกันว่าภาวะโลกร้อนในขณะนั้นเป็นแนวโน้มที่จำเป็นต้องมีการเตือนภัยและเร่งปฏิบัติการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โลกก็ได้รับการเตือนภัยในเรื่องดังกล่าวอีกหลายครั้ง เช่น ในการประชุมสุดยอดริโอ 1992 เกียวโตโปรโตคอล 1997 และข้อตกลงปารีส 2015 เป็นต้น
จากนี้ไป วิกฤตภาวะโลกร้อนจึงต้องได้รับการดูแลแก้ไขจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และไม่เพียงแค่การวิจัยและเผยแพร่ของนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่จะต้องทำตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ ไปจนถึงการสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจให้แก่สาธารณชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังและเป็นระบบโดยคำนึงถึงระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติด้วย
ที่มา: 1. https://futurism.com/the-byte/11k-scientists-please-panic-climate-change-kill-us
Related posts
Tags: Climate Change, Environment, Sustainability, Sustainability Management
ความเห็นล่าสุด