ในยุคที่เอไอได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์และช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ มนุษย์เรายังต้องเผชิญปัญหาด้านจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจด้วยเอไอด้วย ไอเอสโอเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้พัฒนามาตรฐานสากลสำหรับเอไอโดยคำนึงถึงมุมมองด้านจริยธรรม
เมื่อเรามาถึงยุคของเอไอ เทคโนโลยีอัตโนมัติและเทคโนโลยียานยนต์ มีความก้าวหน้าไปมาก รถยนต์อัตโนมัติเป็นงานวิจัยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในเอไอ รถยนต์ชื่อดังจากกูเกิ้ล อูเบอร์ และเทสล่าได้มีการสำรวจวิธีที่จะทำให้รถยนต์เรียนรู้ที่จะขับขี่อย่างถูกต้องด้วยการใช้การเรียนรู้ด้วยตนเองแบบ deep learning แต่การปล่อยให้เครื่องยนต์เรียนรู้ด้วยตัวเองจะทำให้เสี่ยงต่อความผิดพลาดได้ จึงมีการนำเรื่องของจริยธรรมมาพิจารณาก่อน สิ่งนี้เป็นความท้าทายต่อแนวคิดแบบเดิมในเรื่องความรับผิดชอบเชิงจริยธรรม นั่นคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และใครจะเป็นผู้ยึดถือวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด
ไอเอสโอเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการร่วม ISO/IEC JTC 1/SC 42, Artificial intelligence ขึ้นเพื่อช่วยพัฒนามาตรฐานสากลสำหรับเอไอ
มิแคล ยาลมาชอน ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของ SIS ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสวีเดนในคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้อธิบายถึงการที่มาตรฐานสากลจะช่วยให้มีการสร้างและใช้พื้นฐานทางจริยธรรมในระบบเอไอในอนาคตดังต่อไปนี้
เอไอใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ข้อมูลมีการรวบรวมและนำไปผ่านกระบวนการในรูปแบบใหม่และเป็นไปโดยอัตโนมัติมากขึ้น ทุกวันนี้ เอไอมีความสามารถในการจัดการกับข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต และแนวโน้มที่จะมีผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องทางสังคมและเชิงจริยธรรมตามมา ถ้ากล่าวถึงโรงงานผลิต แขนกลหุ่นยนต์ต้องทำงานร่วมกับมนุษย์อย่างใกล้ชิด ส่วนการขนส่งก็ใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น รถยนต์ไร้คนขับก็ต้องใช้ระบบผู้ช่วยทำการขับขี่ ดังนั้น มนุษย์ซึ่งต้องไว้วางใจเครื่องจักรจะต้องมั่นใจว่าในการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์หรือเอไอ ต้องไม่มีอะไรผิดปกติ แต่หากจะมีประเด็นอะไรขึ้นมาก็ต้องเป็นที่เข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดได้อย่างไร และจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไรในอนาคต
ดร.เดวิด ฟิลิป ผู้ประสานงานของกลุ่มงานคณะอนุกรรมการวิชาการร่วม ISO/IEC JTC 1/SC 42, Artificial intelligence กล่าวถึงมาตรฐานไอเอสโอว่ามีการระบุคุณลักษณะบางอย่างของความไว้ใจได้ เช่น ความรับผิดชอบ อคติ ความสามารถในการควบคุม ความสามารถในการอธิบาย ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัย แต่ก่อนที่จะพิจารณาถึงเรื่องเหล่านี้ จะต้องไปทวนสอบความโปร่งใสของผลลัพธ์และพฤติกรรมของระบบเสียก่อน ซึ่งก็คือผลลัพธ์ของระบบเอไอที่มีความโปร่งใสหรือตรวจสอบได้ ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้เกิดความไว้วางใจได้ จึงจำเป็นต้องเข้าใจในการทำงานภายในของอัลกอริทึมโดยมีมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้
ระบบเอไอมีผู้ใช้งานมากมายนับตั้งแต่อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพไปจนถึงอุปกรณ์มือถือด้วยข้อกำหนดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และยังแตกต่างกันทั้งในแต่ละตลาดและแต่ละภูมิภาคด้วย
ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีเอไอจะเป็นเหมือนกล่องดำของเครื่องบินที่สามารถตอบทุกคำถามได้ แต่มันจะบอกเราว่าทำไมทางเลือกหนึ่งถึงดีกว่าอีกทางหนึ่งได้หรือไม่ และสามารถบอกทางเลือกให้เราได้จริงๆ หรือไม่ หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกันแน่ระหว่างมนุษย์กับเอไอ โปรดติดตามเรื่องราวของเอไอกับประเด็นปัญหาทางจริยธรรมได้ในครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2454.html
2. https://iecetech.org/Technical-Committees/2019-04/Establishing-trustworthiness-is-vital-in-our-human-machine-world
Related posts
Tags: IT, safety, Technology
Recent Comments