เอไอกับประเด็นปัญหาทางจริยธรรม ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาด้านจริยธรรมของเอไอ ซึ่งไอเอสโอตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการร่วม ISO/IEC JTC 1/SC 42, Artificial intelligence ขึ้นเพื่อช่วยพัฒนามาตรฐานสากลสำหรับเอไอ โดยคำนึงถึงมุมมองด้านจริยธรรม แล้วสิ่งที่คณะอนุกรรมการวิชาการดังกล่าวทำในด้านมาตรฐานทางสังคมและจริยธรรมคืออะไร
ปัจจุบัน คณะอนุกรรมการวิชาการไอเอสโอ SC 42, Trustworthiness มีภารกิจในโครงการที่เพิ่งได้รับการอนุมัติใหม่ล่าสุด แนวคิดคือการรวบรวมและการระบุการพิจารณาเชิงสังคมและจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับเอไอและเชื่อมโยงกลับไปสู่โครงการความน่าเชื่อถือที่กำลังทำกันอยู่ และปัจจุบันกำลังจัดทำเอกสารข้อมูลทางวิชาการที่มีประเด็นที่ให้ความสำคัญด้านสังคมและจริยธรรมโดยรวมที่มีชื่อว่า ISO/IEC WD TR 24368 ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบเอไอและการนำไปใช้โดยเน้นหลักการ กระบวนการ และวิธีการที่ช่วยให้ผู้ใช้งานมีแนวทางข้อกำหนดที่ไม่ใช่ทางวิชาการและตระหนักถึงประเด็นปัญหาด้านความน่าเชื่อถือของเอไอด้วย
ISO, IEC และ JTC 1 Information ได้ทำการพัฒนามาตรฐานแบบสมัครใจซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องจริยธรรมเท่านั้น แต่ความสนใจในปัจจุบันคือเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่ผู้ควบคุมกฎจะตามทัน ผลก็คือเหมือนกับแมวจับหนูในระหว่างที่มีการใช้เอไอเพิ่มขึ้นในระบบและสภาพแวดล้อมต่างๆ และมีการพัฒนากฎระเบียบและกฎหมายที่ใช้ควบคุม
อย่างไรก็ตาม ไอเอสโอกำลังค้นหาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงได้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ และแสดงถึงความใส่ใจในมุมมองที่หลากหลายข้ามสาขารวมทั้งข้อกำหนดด้านกฎระเบียบด้วย ยกตัวอย่างเช่น ระบบนำทางในรถ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในการให้จีพีเอสนำทางเพื่อใช้เส้นทางที่ดีที่สุดจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งซึ่งสามารถผิดเส้นทางได้ในบางครั้งเพราะอย่างไรเสีย เราก็จะไปถึงจุดหมายได้ แต่มันจะใช้ได้หรือไม่ถ้าเอไอยังคงเลือกที่จะให้คนไข้ใช้ยาที่มีประสิทธิผลสูงแต่มีความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงสูงกว่ายาอีกชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิผลน้อยกว่าแต่มีความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า
คำตอบคือ เรื่องนี้อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ในโรงพยาบาลที่มีคนไข้ที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ที่ประจำโรงพยาบาล แต่ก็ยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องความเสี่ยง หรือในบ้านที่มีการดูแลผู้สูงวัย ถ้าแพทย์มีการสั่งยา ก็อาจจะเป็นไปได้ที่คนไข้จะถามว่าทำไมจึงเลือกยาชนิดแรกที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า แต่เอไอซึ่งเพียงแค่ทำการส่งยาจะไม่สามารถตอบว่าทำไมยาชนิดแรกจึงเหมาะสมกว่ายาอีกชนิดหนึ่ง
แล้วถ้าหากไม่ใช้เอไอเพื่อช่วยในการดูแลรักษาคนไข้ จะถือว่าไม่ถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ นี่คือคำถามที่ยากเพราะอะไรจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบริบทที่มีการใช้เอไอซึ่งหลายโครงการอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค
ยกตัวอย่างเช่น การไม่ใช้เอไอในการศึกษาโรคอาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามจริยธรรม เนื่องจากหากมีการใช้แล้วก็จะเพิ่มความสามารถในการค้นหาการรักษาได้เร็วกว่าที่จะไม่ใช้ หรือ จะยอมรับเชิงจริยธรรมได้มากกว่าหรือไม่เมื่อรถยนต์ไร้คนขับทำให้คนเสียชีวิตมากกว่ารถยนต์ที่มีคนขับตามปกติ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนอีกมากมาย เช่น การตัดสินใจบนท้องถนนเมื่อต้องหักพวงมาลัยหลบคนเดินถนน คนขี่จักรยาน หรือสัตว์เลี้ยงในสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น และในบางประเทศจะมีเรื่องของวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจด้วย
นักวิจัยบางคนกล่าวว่าในแต่ละปี รถยนต์ไร้คนขับอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไป แต่เมื่อเราใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องยนต์ช่วยตัดสินใจ เราจำเป็นจะต้องใส่ใจรายละเอียดให้มากขึ้น ความท้าทายก็คือเรื่องของความรับผิดชอบ ความน่าไว้วางใจ การสอบกลับ และคุณค่าของมนุษย์ควรได้รับการจัดการอย่างเท่าเทียมกันในลักษณะเดียวกันเพื่อให้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล
ปัจจุบัน ไอเอโอได้พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวกับเอไอแล้วจำนวน 3 ฉบับ และอยู่ในระหว่างพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวกับเอไอจำนวน 13 ฉบับ รวมถึงเรื่องของมาตรฐานระบบการจัดการเอไอ และมาตรฐานเรื่องความน่าไว้วางใจ (Trustworthiness) ด้วย
สำหรับประเด็นปัญหาต่างๆ ดังกล่าว ไอเอสโอได้ให้ความสำคัญและนำมาพิจารณาในการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเอไอซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะได้นำมาเสนอในบทความครั้งต่อไป
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2454.html
2. https://iecetech.org/Technical-Committees/2019-04/Establishing-trustworthiness-is-vital-in-our-human-machine-world
3. https://www.nature.com/articles/d41586-018-07135-0
Related posts
Tags: IT, safety, Technology
ความเห็นล่าสุด