เมืองทั่วโลกต่างทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าในอนาคตจะมีผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น และสิ่งที่จะช่วยให้อนาคตของเมืองมีความสดใสและน่าอยู่มากขึ้นก็คือ นวัตกรรมระบบดิจิตอล ซึ่งถือเป็นหัวข้อการรณรงค์วันเมืองแห่งโลก (World Cities Day) ในปีนี้ด้วย
องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันเมืองแห่งโลก ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ชุมชนเมืองทั่วโลกมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองโอกาสและความท้าทายของเมือง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก
ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในเมือง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งทำให้การเพิ่มขึ้นของประชากรกลายเป็นวาระสำคัญของเมืองชั้นนำทั่วโลก
สำหรับ หัวข้อการรณรงค์วันเมืองแห่งโลกในปีนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงโลก: นวัตกรรมและชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับคนในรุ่นอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมการพูดคุยและอภิปรายว่าความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้นสามารถเป็นโอกาสของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เป้าหมายหลักในปีนี้คือการเพิ่มความตระหนักในเรื่องวิธีการนำนวัตกรรมระบบดิจิตอลมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
เศรษฐกิจดิจิตอลใหม่ที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ รวมไปถึงหุ่นยนต์ เอไอ ไอโอที การพิมพ์สามมิติ การขนส่งอัตโนมัติและอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้อุปกรณ์จำเป็นต้องมีการสร้างให้มีการใช้กฎเกณฑ์เดียวกัน มีรูปแบบการสื่อสารแบบเดียวกัน และมีรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สามารถเข้ากันได้ในระดับโลก
มาตรฐานสากลมีการรองรับเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนานวัตกรรมระบบดิจิตอลเนื่องจากเป็นภาษาที่ใช้ร่วมกันโดยมีพื้นฐานอยู่บนเรื่องของวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับโลกที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้มีความสามารถในการปฏิบัติงานของข้อมูลร่วมกันได้
สำหรับไอเอสโอเป็นองค์กรชั้นนำซึ่งมีมาตรฐานนับพันฉบับที่จะช่วยให้เมืองมีความปลอดภัยและเป็นสถานที่ที่มีความยั่งยืนสำหรับการอยู่อาศัย ซึ่งมีส่วนร่วมโดยตรงต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 11 ของสหประชาชาติ ในเรื่องของเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
มาตรฐานที่อยู่ในตระกูล ISO 37100, Sustainable cities and communities เป็นตัวอย่างของมาตรฐานไอเอสโอที่มีกรอบการทำงานโดยรวมสำหรับการกำหนดวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมทั้งโรดแมปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว
มาตรฐานเหล่านี้ครอบคลุมทุกสิ่งที่เมืองต้องมีเพื่อให้กลายเป็นเมืองที่มีความยั่งยืน เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมือง โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงด้านอาหาร ความปลอดภัย เป็นต้น
อีกตัวอย่างหนึ่งคือการผลิตด้วยระบบอัจฉริยะ ซึ่งจะทำให้โรงงานปลอดภัยมากขึ้นและมีความยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การปรับปรุงกระบวนการผลิตมีการคาดการณ์ว่าจะสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นได้เป็นพันล้านเหรียญสหรัฐภายในทศวรรษหน้าและไอเอสโอก็ได้พัฒนามาตรฐานเหล่านี้ไปแล้วมากกว่า 800 ฉบับ
ความมั่นคงปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์และสารสนเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนวัตกรรมระบบดิจิตอล ไอเอสโอมีมาตรฐานเหล่านี้เกือบ 200 ฉบับ รวมทั้งชุดมาตรฐานระบบการจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง ISO/IEC 27000
การขนส่งที่เชื่อมโยงกันก็เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเมืองที่มีความยั่งยืนในอนาคตเช่นกัน ไอเอสโอมีมาตฐานเหล่านี้มากกว่า 270 ฉบับและยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาอีก 70 ฉบับ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไร้คนขับ และรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนและรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้เมืองมีความยั่งยืนมากขึ้นด้วยการใช้พลังงานที่ลดลงและยังช่วยลดมลพิษลงได้ด้วย
เนื่องในวันเมืองแห่งโลกปีนี้ องค์การสประชาชาติได้รณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องของการนำนวัตกรรมระบบดิจิตอลไปใช้เพื่อส่งมอบบริการที่ทำให้ประชากรโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมือง และถือเป็นโอกาสในการส่งเสริมให้เมืองมีการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งส่งเสริมให้สังคมเมืองมีความเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียมกันด้วย ซึ่งไอเอสโอก็ได้มีส่วนสำคัญในการทำให้วันเมืองแห่งโลกมีความหมายมากขึ้น
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2447.html
2. https://unhabitat.org/wcd/
Related posts
Tags: IT, safety, Standardization
Recent Comments