เมื่อปี 2543 (ค.ศ.2000) องค์การสหประชาชาติได้มีการประชุมสุดยอดและร่วมรับรองเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะบรรลุปัญหาต่างๆ ของโลกลงภายในปี 2558 (ค.ศ.2015) และเมื่อถึงเวลาดังกล่าวจึงได้ริเริ่มกระบวนการหารือเพื่อกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี 2558 ซึ่งก็คือการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความพยายามดังกล่าวได้บรรลุผลในปี 2558 ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้ร่วมรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อให้ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ ประกอบด้วย 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยมี 169 เป้าหมายย่อย และ 230 ตัวชี้วัด สร้างบนหลักของการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (leaving no one behind) โดยเน้นวิธีการแบบองค์รวม เพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลกที่เราเผชิญอยู่ ได้แก่ การแก้ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียม การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความสงบสุขและความยุติธรรม อีกทั้งการพัฒนานั้นจะต้องสร้างความสมดุลทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
จากรายงานการศึกษา SDGs Development Report 2019 ที่จัดทำขึ้นโดยเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network : SDSN) ได้รายงานถึงผลการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละประเทศ สำหรับผลการรายงานในปีนี้ 3 ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก คือ เดนมาร์ก สวีเดน และฟินแลนด์ มีคะแนนนำ โดยเดนมาร์กได้คะแนนสูงถึง 85 คะแนนแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ สำหรับประเทศไทยติดอันดับที่ 40 จาก 162 ประเทศด้วยคะแนน 73 คะแนน
ทั้งนี้ SDGs Development Report ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ติดตามการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อที่เป็นทางการ เพียงแต่เป็นส่วนช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากที่แต่ละประเทศได้มีการปฏิบัติด้วยความสมัครใจ
บทความตอนนี้ จะได้กล่าวถึงการผลักดันองค์กรต่าง ๆ ให้นำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้
เช่น เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล, เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน, เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น สภานักธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (The World Business Council for Sustainable Development :WBCSD) ได้รณรงค์หรือสร้างแคมเปญ ‘Business Avengers’ เพื่อให้เป็นการสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
แคมเปญดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกันของภาคเอกชนและเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย SDGs โดยบริษัท ยูนิลีเวอร์ฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 17 บริษัทที่เข้าร่วมแคมเปญ Business Avengers เพื่อสนับสนุนทศวรรษแห่งการส่งมอบ (Decade of Delivery) หรือการอุทิศตนเพื่อเป้าหมาย SDGs โดยได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ Unilever Centre for Environmental Water Quality (UCEWQ) เพื่อทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้น้ำเสีย (Grey Water) ในภาคการเกษตรขนาดเล็ก เพื่อใช้สำหรับโถสุขภัณฑ์และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การบริโภค อีกทั้งยังได้คิดค้นและพัฒนาวัสดุที่ช่วยให้ผู้คนสามารถนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้ที่บ้านของตนเอง ทำให้ผู้คนในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำใช้ทรัพยากรได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ UCEWQ ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรและคุณภาพน้ำแบบบูรณาการและเป็นศูนย์กลางความรู้สำหรับโครงการ Caring for Catchments ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้มีการกักเก็บน้ำมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ชาญฉลาดของบริษัท นั่นคือผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำน้อย เพื่อช่วยให้ผู้คนใช้น้ำน้อยลงตามที่ต้องการแต่ยังคงใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในบริบทของประเทศไทยนั้น ได้มีการมีการนำกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาศัยหลักภูมิปัญญาและความซื่อสัตย์สุจริตตลอดจนหลักการเดินทางสายกลาง สำหรับแนวโน้มการตอบสนองต่อเป้าหมาย SDGs ประเทศไทยยังคงมีเป้าหมายที่มีความท้าทายและมีแนวโน้มที่จะบรรลุ 3 เป้าหมาย คือ เป้าหมาย SDGs ข้อ 1 ขจัดความยากจน, เป้าหมาย SDGs ข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล และเป้าหมาย SDGs ข้อ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเป้าหมาย SDGs ข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่มี 5 เป้าหมายย่อยนั้น ไทยบรรลุเป้าหมายย่อยในข้อการจัดหาน้ำดื่มให้กับประชากรและการจัดให้มีระบบสุขาภิบาลมากขึ้น แต่สำหรับ 3 เป้าหมาย คือ การใช้น้ำจืดต่อแหล่งน้ำหมุนเวียน การใช้น้ำบาดาลและการบำบัดน้ำเสีย รายงานชี้ว่าไม่มีข้อมูลในการรายงานผลการตอบสนอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรายังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในข้อย่อยนี้ได้
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยต้องการที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาลในเป้าหมายย่อยที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรม มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว โดยอาจนำระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency Management System) ร่วมกับการคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการขาดแคลนน้ำ และลดปัญหาด้านคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ฯลฯ ดังเช่นกรณีของยูนิลีเวอร์ที่ได้ยกตัวอย่างในบทความฉบับนี้
ที่มา:
- https://www.undp.org/content/undp/en/home/sustainable-development-goals.html
- https://thaipublica.org/2019/07/thailand-sdg-index-progress-ranking/
- https://www.unilever.com/sustainable-living/reducing-environmental-impact/water-use/water-smart-products-for-water-stressed-living/
- https://sdg.iisd.org/news/17-companies-join-campaign-for-sdgs-decade-of-delivery
Related posts
Tags: Environmental Management, Sustainability, Sustainability Management
ความเห็นล่าสุด