เมื่อเร็วๆ นี้ MASCI Innoversity ได้นำเสนอบทความเรื่อง “ทั่วโลกก้าวสู่ SDGs เพื่ออนาคต” ซึ่งได้กล่าวถึงการสนับสนุนเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการทรัพยากรและคุณภาพน้ำแบบบูรณาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในตอนนี้ จะกล่าวถึงเรื่องของการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการทำให้โลกของเราและประเทศของเรารอดพ้นวิกฤตการณ์เรื่องน้ำได้
การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เป็นการบริหารจัดการที่เน้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของน้ำและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า มีความสมดุลทั้งปริมาณและคุณภาพเพื่อรักษาดุลยภาพทางธรรมชาติของน้ำเอาไว้ เพื่อให้มีทรัพยากรน้ำมีสำหรับใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ทั้งนี้ การที่จะบรรลุถึงการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และประชาชนทั่วไปด้วย
ในบทความนี้จะกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนต่อการร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่จะช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตเรื่องน้ำได้
ภาครัฐมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย มาตรการและทิศทางในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการประหยัดน้ำ เพื่อให้สามารถรองรับและแก้ไขปัญหาด้านน้ำที่กำลังเกิดขึ้นได้ โดยในปัจจุบัน ภาครัฐได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (พ.ศ. 2558-2569) เพื่อช่วยจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตในภาคการเกษตร และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน รวมทั้งการดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ปี พ.ศ. 2558) ที่เป็นเครื่องมือในการลดผลกระทบจากสาธารณภัย และสามารถให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจให้แก่ผู้ประสบภัย
สำหรับองค์กรต่างๆ ได้มีแนวปฏิบัติที่สอดรับกับแนวนโยบายการบริหารจัดการน้ำ เช่น การประปานครหลวง (กปน.) ได้จัดทำโครงการฉลากแสดงประสิทธิภาพอุปกรณ์ประหยัดน้ำ หรือ ฉลากประหยัดน้ำ เพื่อแบ่งระดับประสิทธิภาพของอุปกรณ์ประหยัดน้ำเป็น 3 ระดับ คือ เบอร์ 3 เป็นอุปกรณ์ประหยัดน้ำระดับดี โดยมีอัตราการใช้น้ำไม่เกิน 6 ลิตรต่อนาที เบอร์ 4 เป็นอุปกรณ์ประหยัดน้ำระดับดีมาก โดยมีอัตราการใช้น้ำไม่เกิน 4 ลิตรต่อนาที และเบอร์ 5 เป็นอุปกรณ์ประหยัดน้ำระดับดีเยี่ยม โดยมีอัตราการใช้น้ำไม่เกิน 2 ลิตรต่อนาที ปัจจุบัน กปน. มีฉลากแสดงประสิทธิภาพอุปกรณ์ประหยัดน้ำ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ก๊อกอ่างล้างหน้า-ล้างมือประหยัดน้ำ และฝักบัวประหยัดน้ำ ฉลากประหยัดน้ำดังกล่าวยังเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของประชาชนให้สอดรับกับนโยบายประหยัดน้ำของภาครัฐได้โดยตรง และยังสอดคล้องกับแนวทางสากลเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืนอีกด้วย
สำหรับภาคอุตสาหกรรม ควรกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หรือรวมทั้งการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เทคโนโลยีที่สามารถช่วยในการบำบัดน้ำเสียให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reverse Osmosis) หรือการใช้น้ำหมุนเวียนภายในกระบวนการผลิต เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ร่วมรณรงค์และส่งเสริมให้องค์กรใช้น้ำอย่างประหยัดและเลือกใช้อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่สามารถลดการใช้น้ำได้ และอาจเพิ่มมุมมองการบริการจัดการน้ำขององค์กรรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำน้อยลง ให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น โดยพิจารณาประเด็นผลกระทบด้านน้ำตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบไปจนถึงการกำจัดหลังการใช้งาน (Life Cycle Perspective) หรือหลักการของ Water Footprint เพื่อประเมินปริมาณการใช้น้ำขององค์กร และนำมาหาแนวทางลดการใช้น้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนแนวทางการจัดการให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
นอกจากนี้ ในบริบทของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ภาคอุตสาหกรรม สามารถนำประเด็นด้านน้ำมาดำเนินงานร่วมกับชุมชน ผ่านการจัดทำโครงการต่างๆ เช่น การช่วยบรรเทาสาธารณภัยให้ชุมชนโดยรอบที่ประสบปัญหาภัยแล้ง การพัฒนาแหล่งน้ำ/แหล่งเก็บกักน้ำ แหล่งต้นน้ำ หรือการทำฝาย ซึ่งอาจร่วมกับหน่วยงานอื่นในการเข้าช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
ในภาคการเกษตรก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจและปรับตัวรับกับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศเช่นกัน ทั้งนี้ ข้อมูลจาก UNEP ระบุว่าภาคการเกษตรของโลกเรามีการบริโภคน้ำดิบเป็นหลักโดย 70% มีการนำไปใช้เพื่อการชลประทาน และแม้ว่าภาคการเกษตรที่มีการเพาะปลูกทั้งหมดจะมีเพียง 20% ของโลก แต่ก็มีส่วนทำให้เกิดผลผลิตด้านอาหารถึง 40% และทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น แต่ความต้องการน้ำดิบก็เพิ่มมากขึ้นตามการประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนาทางเศรษฐกิจเช่นกัน จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าการใช้น้ำโดยเฉพาะภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นถึง 50% ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และเพิ่มขึ้น 18% ในประเทศกำลังพัฒนา ภายในปี 2568 (ค.ศ.2025) นับจากปี 2543 (ค.ศ.2000)
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก UNEP มีการคาดการณ์ว่า พื้นที่ประมาณ 43 จังหวัดเสี่ยงภัยแล้งจะมีความรุนแรง แนวทางการบริหารน้ำของประเทศจึงให้ความสำคัญการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก นอกจากนี้ ฐานข้อมูลจาก 25 ลุ่มน้ำของประเทศ มีค่าดัชนีความเครียด (Water Stress Index: WSI) ที่แตกต่างกัน ซึ่งพบว่า ลุ่มน้ำที่มีความเครียดของน้ำสูง จะมีโอกาสเกิดความขาดแคลนน้ำสูง คือ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามลำดับ สัญญานดังกล่าวบ่งบอกว่าภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะมีความเสี่ยงในอนาคตหากพื้นที่การเพาะปลูกในลุ่มน้ำมีความเครียดของน้ำสูง
ในส่วนของประชาชนเองนั้น ควรให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตอบสนองต่อมาตรการต่าง ๆ และตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปรับเปลี่ยนลักษณะนิสัยในการดำรงชีวิตเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ รวมทั้งการเลือกใช้อุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการประหยัดน้ำ เช่น โถสุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ ฝักบัวอาบน้ำ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เป็นต้น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากฉลากประหยัดน้ำที่ผ่านการรับรองจากองค์กรหรือสถาบันต่างๆ เช่น มอก. (ประหยัดน้ำ) และฉลากเขียว เป็นต้น
ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องแสดงบทบาทและมีส่วนร่วมในการตระหนักถึงความสำคัญของน้ำและใช้น้ำอยางรู้คุณค่ารวมทั้งบริหารทรัพยากรน้ำในบริบทของตนเองอย่างจริงจัง เพื่อลดผลกระทบของวิกฤตน้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและในโลกของเรา ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดแล้ว การจัดการ “น้ำ” แบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนไม่เพียงแต่จะทำให้เรารอดพ้นวิกฤตการณ์น้ำได้เท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของเราทุกคนและคนรุ่นต่อไปด้วย
ที่มา:
1. https://www.mdpi.com/2073-4441/6/6/1698/htm
2. https://www.thebangkokinsight.com/137923/
3. http://122.155.1.141/upload/minisite/file_attach/118/58c9008f228df.pdf
Related posts
Tags: Sustainability, Sustainability Management, water, water management
Recent Comments