บทความ เรื่อง อนาคตโลกการเงินที่ยั่งยืน ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเงินที่ยั่งยืนต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเงินที่ยั่งยืนเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจน และความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งปีเตอร์ เจ.ยัง ประธานคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอที่ 322 ด้านการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance) ได้กล่าวถึงความจำเป็นของมาตรฐานสากลซึ่งทำให้เกิดการระดมทุนระดับโลกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตของประชากรโลก
ส่วนเป้าหมายและความคาดหวังของคณะกรรมการวิชาการที่มีต่อมาตรฐานเพื่อโลกอนาคตของการเงินที่ยั่งยืนนั้น ปีเตอร์ เจ.ยัง กล่าวว่ามีความเชื่อมั่นในงานที่มีการวางแผนไว้ว่าจะมีนัยสำคัญในระดับโลกและเป็นที่สนใจของประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมากรวมทั้งองค์กรผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลก มาตรฐานการเงินที่ยั่งยืนของไอเอสโอนี้จะช่วยให้ระบบทางการเงินระดับโลกมีความเชื่อมโยงถึงกันด้วยความยั่งยืน ผลลัพธ์บางอย่างที่เขาอยากเห็นนั้นจะเกิดขึ้นจากการทำงานของคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 322 ซึ่งรวมถึงการพัฒนาคำศัพท์ร่วมที่เป็นที่ยอมรับ หลักการ และมาตรฐานเพื่อการเงินที่ยั่งยืนที่จะช่วยให้ลดความสับสนในตลาด ลดการทำธุรกรรม มีการทวนสอบและค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารสำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงการเงินที่มีส่วนร่วมในตลาดการเงินที่ยั่งยืน
มาตรฐานนี้มีการระบุอย่างชัดเจนในการช่วยป้องกันไม่ให้มีเพียงแค่คำกล่าวอ้างถึงความยั่งยืน แต่จะต้องเน้นในเรื่องความน่าเชื่อถือ ความซื่อสัตย์ และขนาดของกิจกรรมทางการเงินที่ยั่งยืน และมีแนวทางให้กับสถาบันทางการเงิน รวมทั้งธนาคาร นักลงทุนและบริษัทประกันภัย เพื่อให้สามารถรวมเอาการพิจารณาด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล เข้ากับการปฏิบัติทางการเงินและการลงทุนได้
นอกจากนี้ มาตรฐานดังกล่าวจะทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นในเรื่องกิจกรรมทางการเงินที่ยั่งยืน และช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยั่งยืน รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การทวนสอบขององค์กรที่สามและการเตรียมข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล เป็นต้น รวมทั้งทำให้มีตัวชี้วัดทางการเงินและความโปร่งใสที่ดีขึ้นรวมทั้งสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลของกิจกรรมทางการเงินที่ยั่งยืน สถาบันทางการเงิน และตลาดทางการเงิน
เมื่อกล่าวถึงคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 322 คณะกรรมการนี้มีเป้าหมายระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติโดยการพัฒนามาตรฐาน รวมทั้งแนวทางคำศัพท์ หลักการ High Level (HL) กรอบการทำงาน และมาตรฐานทางเทคนิควิชาการโดยเฉพาะ เพื่อทำให้กรอบการทำงานสมบูรณ์ขึ้น สำหรับสถาบันทางการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
การช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวหมายความว่าเราจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำโดยคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอคณะอื่นหรืองค์กรภายนอกก็ตาม ดังนั้น งานที่มีอยู่ จึงมีการเน้นไปที่การทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมรวมถึงการตรวจเช็คกิจกรรมหรือโครงการที่เหลืออยู่และความต้องการรวมทั้งกลุ่มคำศัพท์เพื่อพัฒนาอภิธานศัพท์หรือพจนานุกรมทางวิชาการให้ดีขึ้น พจนานุกรมนี้ มีศักยภาพในรูปแบบของรายงานทางวิชาการซึ่งจะรวบรวมและอธิบายคำศัพท์ที่ใช้ร่วมกันทั่วไปและภาษารวมถึงแนวคิดด้านการเงินที่ยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ องค์กร และโครงการ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 นี้
มาตรฐานไอเอสโอฉบับแรกนี้คาดการณ์กันว่าจะกำหนดหลักการวิธีปฏิบัติที่ดีสำหรับการเงินที่ยั่งยืนที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั่วโลกซึ่งจะให้แนวทางของบริบทสำหรับการพัฒนาและบทบาทของมาตรฐานที่เฉพาะเจาะจงในอนาคตโดยการทำความเข้าใจกับแนวคิดทางการเงินที่ยั่งยืน กรอบการทำงานเพื่อการตัดสินใจและการบรรเทาความเสี่ยง เทคนิคการคิดเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่สามารถวัดได้และแนวทางการเปิดเผยข้อมูลการเงินที่ยั่งยืนด้วย
ส่วนในเรื่องของแรงบันดาลใจการพัฒนามาตรฐานเพื่ออนาคตของการเงินที่ยั่งยืนนั้น เขากล่าวว่าคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 322 มีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และการเกิดนวัตกรรมการเงินที่ยั่งยืนได้อย่างรวดเร็วและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมั่นคงในระดับสากล และทำให้ทุกประเทศสามารถส่งมอบบริการทางการเงินที่มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง และความเสี่ยงที่ลดลง ซึ่งจำเป็นต้องทำให้องค์กรทางการเงินเห็นคุณค่าของกระบวนการมาตรฐานสากล เขาต้องการให้ทุกคนคาดหวังและทำให้แนวโน้มต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่ายด้วยแนวทางของความยั่งยืนที่มีความสมดุลมากขึ้น มีสมรรถนะในการดำเนินการตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลด้วยตัวชี้วัดที่เท่าเทียมกัน
การทำงานในเชิงรุกเช่นนี้ทำให้เขาต้องการเห็นชุดมาตรฐานทางวิชาการเหล่านี้ได้รับการพัฒนาในช่วงเวลาต่อจากนี้ไปซึ่งหมายความว่าจะครอบคลุมข้อกำหนดในด้านการประเมินผลกระทบ การเปิดเผย การทวนสอบ และการดูแล ซึ่งแต่ละด้านสามารถนำไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สำคัญได้และสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์สุดท้ายที่ยั่งยืน รวมทั้งการกู้ยืม พันธบัตร เงินทุน การประกัน และการลงทุนต่างๆ ที่ยั่งยืนด้วย
มาตรฐานบางฉบับจะเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนของคณะกรรมการวิชาการและคณะอนุกรรมการวิชาการอื่น เช่น ISO/TC 207/SC 4 ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมที่ยั่งยืนหรือพันธบัตรที่ยั่งยืน และบางมาตรฐานก็ทำโดยกลุ่มงานร่วม เช่น ISO/TC 207/WG 11 ด้านการเงินสีเขียว (green finance) เพื่อให้มั่นใจว่ามีความเชี่ยวชาญของผู้ชำนาญการที่จำเป็นอย่างครอบคลุมในกระบวนการพัฒนามาตรฐาน ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในการทำงานจะทำให้องค์กรอื่นๆ เกิดการทำงานเชิงรุกในชุมชนทางการเงิน
ผลลัพธ์สุดท้ายของคณะกรรมการวิชาการดังกล่าวจะนำไปสู่การปฏิบัติงานที่ยั่งยืนของสถาบันทางการเงิน และนักลงทุน มีการกำหนดและแยกแยะกิจกรรมทางการเงินที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน มีการวัดผลกระทบด้านความยั่งยืน การสนับสนุนให้มีความโปร่งใส และทำให้มั่นใจในความซื่อสัตย์ด้านกิจกรรมการเงินที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเร่งการเติบโตของการเงินที่ยั่งยืนและทำให้เกิดกลไกที่น่าเชื่อถือเพื่อระดมทุนได้จากทั่วโลก ซึ่งจะทำให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสภาพภูมิอากาศได้
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2469.html
Related posts
Tags: Climate Change, Standardization, Sustainability, Sustainability Mangement
Recent Comments