ปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีชีวภาพ หลายคนอาจนึกถึงเทคโนโลยีการตัดแต่งสารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตต่างๆ แต่อันที่จริงแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่การวินิจฉัยโรคไปจนถึงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รวมไปถึงเรื่องของยา การจัดการกับวัตถุทางชีวภาพในห้องปฏิบัติการหรือในที่ต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในหลายอุตสาหกรรม แต่ก็ต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลควบคู่กันไปด้วย
การลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้เวลาและทรัพยากรอื่นอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นสำหรับการจัดการด้านชีวภาพ เป็นสิ่งที่ไอเอสโอได้คำนึงถึงและพัฒนาเป็นมาตรฐานระบบการจัดการสากลฉบับใหม่ล่าสุดคือ ISO 35001: 2019 Biorisk management for laboratories and other related organizations
ตัวอย่างของการจัดการด้านชีวภาพ เช่น การใช้เชื้อโรคเพื่อรักษาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรงหรือโรคซาร์สซึ่งเป็นโรคระบาดอันตราย หรือบางครั้งเรียกกันว่าเป็นไข้ไวรัสมรณะ มีความเข้มงวดในการจัดการกับเชื้อโรคเป็นอย่างมาก และระบบการจัดการความเสี่ยงทางชีวภาพนับเป็นก้าวแรกที่ช่วยให้องค์กรทำการระบุ ควบคุม และจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพหรือความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางชีวภาพในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานสากลฉบับแรกสำหรับระบบการจัดการความเสี่ยงทางชีวภาพซึ่งระบุข้อกำหนดและแนวทางสำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบหรือองค์กรอื่นที่ทำงานกับสารชีวภาพเพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน
แพตตี้ โอลิงเงอร์ ผู้ประสานงานกลุ่มงานที่พัฒนามาตรฐานดังกล่าวระบุว่าในขณะที่มาตรฐานระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่นที่ช่วยให้องค์กรจัดการความเสี่ยงขององค์กรเองและตอบสนองข้อบังคับต่างๆ มาตรฐาน ISO 35001 ก็เป็นมาตรฐานแรกที่ทำให้องค์กรเหล่านั้นสามารถส่งมอบวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากลซึ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเช่นกัน โดยมาตรฐานนี้ทำให้องค์กรและบุคคลมีโรดแมปของวิธีการจัดการและการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงทางชีวภาพอย่างมีโครงสร้างและเป็นระบบ
สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยปกป้องโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขในระดับโลกเนื่องจากโลกของเราหรือประเทศต่างๆ มีการติดต่อสื่อสารและใกล้ชิดกันมากขึ้นทุกวัน
มาตรฐาน ISO 35001 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 212, Clinical laboratory testing and in vitro diagnostic test systems โดยมีเลขานุการคือ ANSI ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้สนใจมาตรฐาน ISO 35001 สามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: 1. http://www.biotec.or.th/biosafety/images/document/pb-01_biosecurity_rev%203%20_2_.pdf
2. https://www.iso.org/news/ref2472.html
Related posts
Tags: Health, Quality, safety, Standardization
Recent Comments