ปัจจุบัน ประชากรโลกราวสองพันล้านคนยังขาดการเข้าถึงระบบการเงินหลัก แล้วสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างไร และจะมีการจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า “มาตรฐาน” เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้เกิดความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นที่สั่นคลอนให้กลับมาอีกครั้ง รวมทั้งแก้ไขปัญหาวิกฤตในยุคดิจิตอลได้
เงินทำให้โลกยังคงหมุนต่อไป ในยุคนี้ ถ้าใครมีเงินน้อยหรือไม่มีเงิน อาจจะรู้สึกลำบาก รวมทั้งคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินที่เป็นทางการได้ เช่น บัญชีธนาคาร บัตรเครดิตและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เป็นต้น บริการทางการเงินเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะในฐานะตัวบุคคลหรือองค์กรธุรกิจ
การเข้าถึงบริการทางการเงินเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ตัวอย่างเช่น เป้าหมาย SDG1 คือการยุติความยากจนในทุกรูปแบบและการเข้าถึงระบบการเงินที่มีการควบคุมได้อย่างเหมาะสมซึ่งจะช่วยให้บุคคลที่ยังขาดโอกาสสามารถเข้าถึงระบบการเงินได้มากขึ้น ในส่วนของกลุ่มธนาคารโลกมีการพิจารณาการเข้าถึงบริการทางการเงินว่าเป็นพื้นฐานสากลของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีซึ่งได้มีกำหนดเป้าหมายให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงระบบการเงินในระดับโลกได้ภายในปีนี้
แต่ในอีกมุมหนึ่งที่อาจจะขัดแย้งกัน คนที่มีความยากลำบากมากที่สุดในการเข้าถึงบริการทางการธนาคารก็อาจจะเป็นคนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น คนยากจนมีแนวโน้มจะเข้าถึงการกู้ยืมอย่างไม่เป็นทางการจากนายหน้าเงินกู้และผู้ให้ยืมเงินที่สามารถคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงมากกว่าธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น คนเหล่านี้ยังขาดความรู้ทางการเงินในการวางแผนล่วงหน้าหรือในการทำธุรกิจด้วย การเข้าถึงบริการทางการเงินจึงสามารถทำให้คนเหล่านั้นมีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากความยากจนได้
ในยุคดิจิตอล การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตและการใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกยังคงมีบทบาทสำคัญในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้หลุดพ้นจากความยากจน แต่ความเคลื่อนไหวของการเข้าถึงบริการทางการเงินนั้น เร็วหรือช้าไม่เท่ากัน จากรายงานของธนาคารโลกปี 2560 (ค.ศ.2017) พบว่าประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ทั่วโลกราว 1.7 พันล้านคนยังคงไม่มีบัญชีธนาคาร และสิ่งนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น ประชากรเกือบ 40 ล้านคนในสหภาพยุโรปก็ยังไม่มีบัญชีธนาคารเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล Findex Database 2017 ของธนาคารโลก ระบุว่ามีประชากรครึ่งหนึ่งของโลกที่ไม่มีบัญชีธนาคารอาศัยอยู่ในประเทศบังคลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ไนจีเรีย และปากีสถาน ซึ่งมีจำนวนมากที่เป็นผู้หญิงและอาศัยอยู่ในพื้นที่ยากจนซึ่งเรียกกันว่าผู้ประกอบการรายย่อยมาก ผู้ถือครองร้านค้าขนาดเล็กที่ขายอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเก็บเงินไว้ที่บ้าน บางคนซ่อนเงินไว้ในตุ่ม ไห ถุง หรือกระเป๋าซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกขโมย
เทคโนโลยีของอุปกรณ์เคลื่อนที่กำลังก้าวข้ามอุปสรรคในภูมิภาคที่ยากจน ซึ่งมีการกระตุ้นการพัฒนาเมื่อปี 2560 (ค.ศ. 2017) ด้วยชุดมาตรฐาน ISO 12812 – Core banking – Mobile financial services ที่มีการออกแบบมาเพื่อให้บริการทางการเงินมีความมั่นคงสำหรับผู้ใช้งานในวงกว้างขึ้น และยังคงใช้ได้กับคนเป็นจำนวนมากถึงแม้ว่าบางคนจะรู้สึกว่าการเก็บเงินไว้ที่บ้านปลอดภัยกว่าการเก็บเงินไว้ที่ธนาคาร
วิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2551 (ค.ศ.2008) ได้บั่นทอนความเชื่อถือของสาธารณชนในระบบการเงินและการธนาคาร และ 10 ปีต่อมา ก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อถือให้ดีขึ้นได้ แล้วความมั่นใจในสถาบันทางการเงินและระบบการเงินจะได้รับการฟื้นฟูกลับคืนมาได้อย่างไร มาตรฐานไอเอสโอจะช่วยได้หรือไม่ มีบุคคลหนึ่งซึ่งมีความเข้าใจเป็นอย่างดีในประเด็นปัญหาเหล่านี้จะมาช่วยไขปัญหาดังกล่าว บุคคลนั้นก็คือ สตีเฟน วูล์ฟ ซีอีโอของมูลนิธิ GLEIF (Global Legal Entity Identifier Foundation) และผู้ประสานงานกลุ่มที่ปรึกษาทางเทคนิคฟินเทคของคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ (ISO/TC 68 FinTech TAG) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 68, Financial services เพื่อทำงานเชิงรุกกับสถาบันการเงินและผู้ควบคุมกฎ เขากล่าวว่าความเชื่อถือเริ่มต้นจากความโปร่งใสเกี่ยวกับการแสดงตัวตน และการแสดงตัวตนในระดับโลกก็เป็นจุดเริ่มต้นในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการเติบโตและโลกมีความมั่งคั่ง
ประเด็นการระบุตัวตนเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเมื่อปี 2559 (ค.ศ.2016) ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับเอกสารปานามาที่ได้เปิดโปงการซุกซ่อนเงินและการฟอกเงินของบุคคลเป็นจำนวนมากจากหลายประเทศ อันแสดงให้เห็นว่าบุคคลผู้ร่ำรวยจากดินแดนโพ้นทะเลหลีกเลี่ยงการเสียภาษีและทำการฟอกเงินได้อย่างไร การสืบสวนครั้งนั้นเกิดจากองค์กรนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อว่า International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ ICIJ ระบุว่าประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นได้เรียกคืนภาษีและได้รับค่าปรับเป็นจำนวนเงินมากกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับประเทศกำลังพัฒนา วูล์ฟกล่าวว่าหนึ่งในความท้าทายหลายประการก็คือการระบุตัวตนที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กรวมทั้งบุคคลที่ทำธุรกิจให้กับบริษัทเหล่านั้นเพื่อให้รู้ว่ากำลังทำธุรกิจอยู่กับใครกันแน่ ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ มากกว่า 50% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำโดยบริษัทที่ไม่มีการจดทะเบียนหรือธุรกิจที่ขาดความโปร่งใสและไม่ได้ระบุตัวตน ซึ่งมีการตัดขาดจากบริการที่จำเป็น เช่น บริการการชำระเงินและบริการของซัพพลายเชน เป็นต้น และมักจะปรากฏว่าเกิดการคอร์รัปชั่นหรือทุจริต แนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยและต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือในการพัฒนาจากประเทศต่างๆ
สำหรับระบบการระบุตัวตนทางกฎหมายในระดับโลกที่เรียกว่า Legal Entity Identifier (LEI) System ได้รับการออกแบบให้สามารถระบุผู้มีส่วนร่วมในธุรกรรมทางการเงินได้อย่างชัดเจนและมีเอกลักษณ์ ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มประเทศ G20 ทำให้มีการระบุตัวตนอย่างชัดเจน เปิดเผย และทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
การวิจัยของ GLEIF ระบุว่าแนวทางที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกขึ้นอยู่กับการรับเอาระบบ LEI ไปใช้อย่างกว้างขวางซึ่งจะขจัดความซับซ้อนจากการทำธุรกรรมทางธุรกิจ สามารถส่งมอบคุณค่าที่วัดได้ให้กับบริษัทที่มีบริการทางการเงินและนำไปสู่การเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยมีไอเอสโอทำการผสมผสานแนวทางของ LEI เข้าไปในมาตรฐาน ISO 17442 – Financial services – legal entity identifier (LEI)
โรบิน ดอยล์ ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง เป็นกรรมการผู้จัดการของเจพี มอร์แกนและเป็นสมาชิกของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 68 – Financial services เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความน่าเชื่อถือและความท้าทายของการจัดเตรียมการประกันความมีตัวตนสำหรับคนจำนวนหนึ่งพันล้านคนซึ่งรัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังไม่มีการออกข้อมูลประจำตัวหรือการรับรองตัวตน ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่เอกสารรายงาน Global Findex Database 2017ของธนาคารโลกได้ระบุไว้คือ ประเทศเหล่านั้นยังขาดการทำเอกสาร หรือสถาบันทางการเงินตั้งอยู่ในที่ห่างไกล มีค่าใช้จ่ายสูงในการเปิดบัญชีธนาคาร และขาดความน่าเชื่อถือ
ความท้าทายเหล่านั้นจำเป็นต้องอาศัยการคิดเชิงนวัตกรรมและแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้ประชากรโลกที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินสามารถเข้าไปสู่ตลาดทางการเงินได้ การก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวต้องอาศัยทั้งกฎระเบียบ นวัตกรรม และการทำงานร่วมกันขององค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการเงินซึ่งไอเอสโอจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง โปรดติดต่อได้ในครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2468.html
Related posts
Tags: Economy, Innovation, Standardization
Recent Comments