ถึงแม้ว่าเรื่องของกระแสเงินดิจิตอลและบิตคอยน์จะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายสำหรับคนทั่วไปเท่าใดนัก แต่หลายคนรวมทั้งนักลงทุนรู้จักเป็นอย่างดี และกระแสเงินดิจิตอลก็ได้รับความสนใจมากขึ้นตามลำดับ ปัจจุบัน มีสกุลเงิน
คริปโตเคอร์เรนซี่มากกว่า 1,800 สกุลเงินแล้ว และนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น คำถามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากระแสเงินดิจิตอลมีความปลอดภัย
เอ็ดเวิร์ดและไรอันเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 68 – Financial services ที่กำลังพัฒนามาตรฐานสากลสำหรับความปลอดภัยของสกุลเงินดิจิตอล ได้กล่าวว่าสำหรับบริการทางการเงินในปัจจุบัน เราอาจนึกถึงคำว่าคริปโตเคอร์เรนซี่ เงินอิเล็กทรอนิกส์ กระแสเงินอิเล็กทรอนิกส์ เงินเสมือนจริง หรืออื่นๆ แต่ความหมายของมันคืออะไร ประเภทของสกุลเงินดิจิตอลเป็นอย่างไร เขากล่าวว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในรูปแบบดิจิตอลซึ่งต่างจากสิ่งที่จับต้องได้ทางกายภาพอย่างธนบัตรและเหรียญซึ่งสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้แต่อาจจำกัดกับสินค้าบางอย่างเช่นเกมออนไลน์
สกุลเงินดิจิตอลอาจไม่ได้ออกโดยรัฐบาลหรือธนาคารแต่ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสหรือคริปโตกราฟีเพื่อเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายออนไลน์และประทับวันที่ ตัวอย่างของเงินดิจิตอลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ บิตคอยน์ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นระบบเงินที่ไร้ศูนย์กลางแต่มีการกระจายออกไปยังเครือข่ายและควบคุมโดยนักพัฒนาและผู้ใช้งานในชุมชนออนไลน์
แต่เดิมนั้น ไอเอสโอมีมาตรฐานสำหรับสกุลเงินจริงคือ ISO 4217 – Currency codes ซึ่งมีการใช้งานตั้งแต่ปี 2521 (ค.ศ.1978) จนถึงปัจจุบัน และรหัสสกุลเงินได้รับการทวนสอบโดยธนาคารโลกแล้ว รหัสเหล่านั้นมีตัวเลขสามฐาน เช่น สกุลเงินบาทมีรหัสตามตัวอักษรคือ THB และมีรหัสตัวเลขคือ 764 และสกุลเงินเหรียญสหรัฐอเมริกามีรหัสตามตัวอักษรคือ USD และมีรหัสตัวเลขคือ 840 เป็นต้น และมีการใช้ทำธุรกรรมทางการเงินกันทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดิจิตอลกำลังขยายไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่รหัสสกุลเงินดังกล่าวจะจัดการได้ มาตรฐาน ISO 4217 ได้จัดสรรรหัสสามฐานไว้ราว 500 รหัส แต่กระแสเงินดิจิตอลมีการสร้างขึ้นและใช้งานออนไลน์ไปแล้วนับพันรายการ
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้ตีพิมพ์เอกสาร The Rise of Digital Money ซึ่งได้พบว่าความนิยมที่เติบโตขึ้นในกระแสเงินดิจิตอลกำลังทำให้ผู้ใช้งานสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นโดยสามารถทำงานบนแอปพลิเคชันออนไลน์ได้และยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกมากอีกด้วย
ความเชื่อถือยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างในประเทศเคนยา กระแสเงินดิจิตอลได้รับความเชื่อถือมากว่าธนาคารและบริษัทโทรคมนาคม เมื่อปี 2559 (ค.ศ.2016) เป็นปีที่กระแสเงินดิจิตอลได้รับความสนใจและคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 68 ซึ่งได้ทำการศึกษาบริการหลักธนาคารได้ให้ความเห็นไว้ว่ากระแสเงินดิจิตอลจะมีการนำมาใช้แทนที่กระแสเงินจริงในหลายพื้นที่ จึงทำให้เกิดการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาถึงวิธีที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการเข้ารหัสหรือคริปโตกราฟี และแนวทางของธนาคารเพื่อให้มั่นใจว่ากระแสเงินดิจิตอลจะมีการกำหนดขึ้นอย่างสมบูรณ์และใช้งานได้อย่างมั่นคงปลอดภัย ซึ่งในช่วงนั้นมีการประมาณการณ์ว่าจะมีธุรกรรมที่ใช้กระแสเงินดิจิตอลนับแสนรายการทุกๆ วัน
เอ็ดเวิร์ด ชไคท์ เป็นผู้ประสานงานคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 68/SC 2/WG 17, Security aspects of digital currencies และไรอัน เพียซ เป็นผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 68/SC 8/WG 3, Digital Token Identifier – DTI คำถามคือ คณะกรรมการเหล่านี้ทำงานเกี่ยวกับอะไรกันแน่
เอ็ดเวิร์ด ชไคท์ มีการประสานงานกับ ANSI ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นรองประธานคณะกรรมการที่ดูแลมาตรฐานของธนาคารภายใต้ ANSI และยังได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกระแสเงินดิจิตอลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ด้วย
งานแรกของคณะกรรมการคือการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของกระแสเงินดิจิตอลโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนามาตรฐานไอเอสโอในอนาคต คณะกรรมการมีการประชุมร่วมกันทุกเดือนและมีสมาชิกเป็นผู้แทนจากสถาบันมาตรฐานแห่งชาติรวม 21 แห่งเข้าร่วมประชุม
เทคโนโลยีกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วโดยมีประเด็นที่คณะกรรมการให้ความสำคัญ คือ ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกระแสเงินที่ไม่ใช่ดิจิตอลอาจได้รับผลกระทบ การให้ความสำคัญกับประเด็นทางภูมิภาคและการเมืองต่างๆ และวิธีการเชื่อมโยงองค์ประกอบเหล่านั้นให้เข้ากับกรอบการทำงานที่เข้มแข็งที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้
เอ็ดเวิร์ด ชไคท์ อธิบายว่าเงินจริงนั้นได้รับการสนับสนุนตามนโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบด้านการธนาคารอยู่แล้ว และถึงแม้ว่าความสะดวกสบายจะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับเงินในรูปแบบดิจิตอล แต่ก็มีเรื่องอยู่ 3 ประเด็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข
ประเด็นแรก ความเชื่อถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสนับสนุนระบบนิเวศทางการเงินสากลซึ่งสามารถประกันการจ่ายเงินและการทำธุรกรรมทางการเงิน ประการที่สอง การผูกมัดความรับผิด เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การลงทุนมีการสนับสนุนระบบนิเวศทางการเงินซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ทางกฎหมายตามมา ประการที่สาม ความเป็นส่วนตัวซึ่งลูกค้าแต่ละคนต้องการให้ข้อมูลยังคงเป็นข้อมูลส่วนตัวเมื่อจำเป็น
ดังนั้น ในการทำงานของผู้เชี่ยวชาญทางการเงินของไอเอสโอจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ทั้งในด้านนโยบาย กฏหมาย อำนาจหน้าที่ส่วนกลาง และจุดยืนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางเทคนิค
คณะกรรมการวิชาการกำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไรระหว่าง 2 เรื่องคือเทคโนโลยีด้านความมั่นคงปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับมาตรฐานเหล่านี้และวิธีที่จะสามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจในกรณีต่างๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าคณะกรรมการวิชาการจะมองหาการรวบรวมแนวคิดและทิศทางของหน่วยงานผู้มีอำนาจระดับประเทศเพื่อให้มีกรอบการทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยในรูปแบบดิจิตอล
แล้วทำไมโลกของเราจำเป็นต้องมีมาตรฐานรหัสสกุลเงินดิจิตอล โปรดติดตามหาคำตอบได้ในครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2466.html 2.https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_01Feb2019.aspx
Related posts
Tags: Financial Services, IT, Technology
ความเห็นล่าสุด