ข้อมูลไบโอเมตริกซ์เป็นข้อมูลทางชีวภาพที่บ่งบอกถึงลักษณะทางกายภาพ พฤติกรรมซึ่งเป็นอัตลักษณ์บุคคล เช่น ลายนิ้วมือ เสียง ใบหน้า ดีเอ็นเอ เป็นต้น ตัวอย่างที่เราพบเห็นบ่อยๆ คือการใช้ลายนิ้วมือสแกนเพื่อเข้าทำงานหรือการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือไอโฟนหรือการตรวจคนเข้าเมือง การใช้เสียงยืนยันตัวบุคคลเพื่อให้บริการทางการเงิน เป็นต้น ปัจจุบัน มีการใช้ข้อมูลไบเมตริกซ์ในงานต่างๆ อย่างแพร่หลายเพื่อยืนยันตัวตนของบุคคล เช่น การออกเสียงเลือกตั้ง การดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น และบางประเทศมีการใช้ข้อมูลไบโอเมตริกซ์เป็นเอกสารอย่างเป็นทางการเพื่อยันยันตัวบุคคลแล้ว เช่น ประเทศมาเลเซีย โบลิเวีย โคลัมเบีย ชิลี กัวเตมาลา อุรุกวัย และเวเนซุเอลา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน การใช้งานเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ทำให้จำเป็นต้องมีการใช้รูปแบบข้อมูลที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ระหว่างอุปกรณ์เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ของอุปกรณ์จะสามารถเข้ากันได้ ดังนั้น ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานสากลใหม่ขึ้นมาเพื่อให้การเข้ารหัสข้อมูลของเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างถูกต้อง โดยไอเอสโอได้ร่วมกับไออีซี หรือคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (International Electrotechnical Commission: IEC) ทำการพัฒนามาตรฐานขึ้นมาจำนวนหนึ่งสำหรับแอปพลิเคชั่นต่างๆ
ในขณะที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ องค์ประกอบและรูปแบบของข้อมูลต่างๆ ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงประเด็นที่เกี่ยวกับความสามารถในการเข้ากันได้ในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญจึงต้องพัฒนาชุดมาตรฐานขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อจัดเตรียมรูปแบบที่สามารถขยายออกไปในลักษณะที่สามารถกำหนดรายละเอียดได้ มาตรฐานชุดแรกในกลุ่มนี้เพิ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ดังต่อไปนี้
- ISO/IEC 39794-1, Information technology – Extensible biometric data interchange formats – Part 1: Framework
- ISO/IEC 39794-4, Information technology – Extensible biometric data interchange formats – Part 4: Finger image data
- ISO/IEC 39794-5, Information technology – Extensible biometric data interchange formats – Part 5: Face image data
มาตรฐานเหล่านี้จะเข้ามาแทนส่วนที่เชื่อมโยงกับชุดมาตรฐาน ISO/IEC 19794 สำหรับรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและคาดกันว่าองค์การการบินเพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) จะรับเอามาตรฐานดังกล่าวไปใช้งานเนื่องจากเป็นพื้นฐานของมาตรฐาน 9303 ของ ICAO ซึ่งเป็นเอกสารการเดินทางที่จะสามารถอ่านได้ด้วยอุปกรณ์การอ่าน
สำหรับชุดมาตรฐาน ISO/IEC 39794 ในอนาคตจะมีบางส่วนที่ต้องเพิ่มเติมข้อมูลบางอย่างลงไปอีก เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับม่านตา หลอดเลือด ร่างกายทั้งหมด และลักษณะการเดิน การย่างก้าวหรือการวิ่ง เป็นต้น
แพทริค โกรเธอร์ ประธานคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/IEC 39794 ที่รับผิดชอบดูแลชุดมาตรฐานนี้ระบุว่าชุดมาตรฐานนี้เป็นชุดมาตรฐานสากลที่มีความรัดกุมที่สนับสนุนความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างข้อมูลไบโอเมตริกซ์ ซึ่งคณะกรรมการวิชาการดังกล่าวตั้งใจที่จะพัฒนามาตรฐานที่เห็นพ้องต้องกันสำหรับลักษณะข้อมูลไบโอเมตริกซ์ซึ่งมีส่วนสำคัญในการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ และมักเป็นข้อมูลที่มีธรรมชาติที่อ่อนไหว และเป็นข้อมูลที่มีการบังคับให้มีการใช้งานต่างๆ รวมทั้งเป็นข้อมูลที่อยู่ในข้อกำหนดของการตัดสินในเรื่องต่างๆ ด้วย
ชุดมาตรฐาน ISO/IEC 39794 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการร่วมของไอเอสโอและไออีซีJTC 1, Information technology คณะอนุกรรมการวิชาการ SC 37, ไบโอเมตริกซ์ โดยมีเลขานุการคือ ANSI ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2478.html
2. https://www.biometricupdate.com/202002/malaysia-to-add-biometric-data-to-all-identity-documents
3. http://www.m2sys.com/blog/national-id/biometric-national-id-latin-america-problems-analysis-reality/
Related posts
Tags: IT, Standardization, Technology
Recent Comments