ภาคส่วนอาคารถือว่ามีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 40% ดังนั้น จึงมีโอกาสสูงที่จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงและช่วยให้โลกของเราสะอาดขึ้นได้ เมื่อเดือนมกราคม 2563 ไอเอสโอได้เผยแพร่มาตรฐานใหม่ล่าสุดที่จะมีส่วนสนับสนุนให้ภาคส่วนอาคารและงานวิศวกรรมโยธามีแนวทางในกระบวนการออกแบบด้านอาคารและวิศวกรรมโยธาที่คำนึงถึงความยั่งยืนโดยสามารถใช้ร่วมกับมาตรฐานอื่นด้านอาคารเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างมีประสิทธิผล
มาตรฐาน ISO 20887: 2020 – Sustainability in buildings and civil engineering works – Design for disassembly and adaptability – Principles, requirements and guidance เป็นมาตรฐานสากลที่จะทำให้อาคารสามารถใช้งานได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด มีประสิทธิผลในการใช้ซ้ำ การรีไซเคิล องค์ประกอบของวัสดุหรือชิ้นส่วนของอาคารเมื่อหมดอายุการใช้งานลงหรือจำเป็นต้องบูรณะซ่อมแซม ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับเจ้าของอาคาร สถาปนิก วิศวกร และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับวงจรชีวิตอาคารในการปรับปรุงเรื่องของความยั่งยืนที่ทำให้ช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรตลอดเส้นทางของวงจรชีวิตอาคาร
มาตรฐานนี้ช่วยผู้ใช้งานใน 2 ด้าน คือ ประการแรก ช่วยยืดอายุของอาคารด้วยการปรับใช้ที่เหมาะสมกับงานของอาคาร และประการที่สอง ทำให้มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อสิ้นสุดวงจรชีวิตด้วยการถอดถอน การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และการทิ้งวัสดุต่างๆ ด้วยวิธีเหมาะสมและมีประสิทธิผล ซึ่งจะทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงด้วยการใช้งานอาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงจากการใช้งานด้วยช่วงชีวิตอาคารที่ยาวนานขึ้นและมีการใช้ทรัพยากรได้ดีขึ้น ตลอดจนเกิดของเสียที่ต้องฝังกลบน้อยลง
ฟิลิปป์ ออสเส็ต ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการไอเอสโอที่พัฒนามาตรฐานดังกล่าวระบุว่า ผู้ใช้งานจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการพิจารณาโดยรวมเอาแนวทางเรื่องความสามารถในการปรับตัวรวมทั้งการรื้อถอนเข้าไปไว้ในทุกขั้นตอนแรกเริ่มของโครงการอาคารต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้มีการรักษาคุณค่าของอาคารตลอดทั้งวงจรชีวิตนับตั้งแต่การสร้างใหม่ การซ่อมแซม การตกแต่ง ไปจนถึงการใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และการกำจัดชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบของอาคารอย่างเหมาะสมเมื่อไม่มีการใช้งานอีกต่อไปแล้ว
นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวยังสนับสนุนเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้โลกของเรามีความยั่งยืนมากขึ้น โดยนัยนี้ มาตรฐานใหม่ดังกล่าวจึงมีส่วนร่วมโดยตรงต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในข้อ 11 เรื่องเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)
มาตรฐาน ISO 20887 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 59, Buildings and civil engineering works, คณะอนุกรรมการวิชาการที่ 17, Sustainability in buildings and civil engineering works โดยมีเลขานุการคือ AFNOR ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส
ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2480.html
Recent Comments