วารสารไอเอสโอโฟกัสเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเงินโดยระบุว่าประชากรโลกยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และมีคนทั่วโลกราวสองพันล้านคนที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการในระบบทางการเงินหลักในประเทศของตนเอง
องค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลและคนทุกกลุ่มว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีความเท่าเทียมกันและความเสมอภาค จึงสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
อย่างไรก็ตาม หากปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้คนในระบบการเงินการธนาคารแล้ว ก็ยากที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลและคนทุกกลุ่มมีความเท่าเทียมกันหรือสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ วารสารไอเอสโอโฟกัสได้กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 7 ข้อที่มีส่วนสนับสนุนให้โลกของเราสามารถบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ดังต่อไปนี้
- ขจัดความยากจน (No Poverty)/SDG1 ในแง่ของการทำงาน คนทำงานจำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารเป็นของตัวเองเพื่อให้มีการจ่ายเงินค่าจ้างได้สะดวกและตรงต่อเวลา เช่น คนงานก่อสร้างถนนในประเทศบราซิลมีบัญชีธนาคาร จึงได้รับค่าจ้างอย่างสะดวกตามเวลาที่ได้รับการบอกกล่าวไว้
- ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)/SDG2 การบริการทางการเงินทำให้คนทำงานสามารถได้รับบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ชาวไร่ยาสูบในประเทศมาลาวีสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ทำให้มีเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น
- มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being)/SDG3 เมื่อคนทำงานได้รับบริการทางการเงินก็สามารถใช้จ่ายเงินไปเพื่อการรักษาทางการแพทย์ได้ ดังเช่นแม่เลี้ยงเดี่ยวในประเทศอินเดียที่สามารถจ่ายเงินดิจิทัลและช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
- มีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ (Gender Equality)/SDG5 การที่คนงานสามารถได้รับค่าจ้างงานด้วยตนเองผ่านบริการทางการเงิน ทำให้สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเองอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นเพศใด ดังเช่นผู้ค้าในตลาดสดของประเทศเคนยาสามารถมีเงินออมทำให้มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือนได้ด้วยตัวเอง
- มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work and Economic Growth)/SDG8 การมีรายได้ผ่านระบบการเงินการธนาคารทำให้คนทำงานสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังเช่น ชาวประมงในประเทศอินโดนีเซียสามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารของตนเองได้ทำให้ได้รับเงินรายได้อย่างสะดวกและตรงต่อเวลา
- ส่งเสริมอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure)/SDG9 ความสามารถในการเข้าถึงเงินกู้ของธุรกิจขนาดเล็กหรือรายย่อย ทำให้เกิดการจ้างงานและอุตสาหกรรมในอนาคต ดังเช่น ผู้ค้ารายย่อยในตลาดของประเทศฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงเงินกู้เพื่อผู้ค้ารายย่อยหรือ micro-loans ได้
- ลดความไม่เท่าเทียมกันหรือความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality)/SDG10 ความเหลื่อมล้ำของรายได้เป็นปัญหาของโลกที่ต้องการการเยียวยาแก้ไข และสำหรับประชากรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องมีการบริหารการเงินด้วยตนเอง การได้รับบริการทางการเงินที่ดีจึงช่วยให้คนทำงานสามารถบริหารจัดการรายได้ของตนเองเพื่อครอบครัวได้เป็นอย่างดี ดังเช่น คนงานในประเทศเนปาลซึ่งต้องดูแลครอบครัวเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและสามารถจัดการกับเงินรายได้ที่ได้รับมาจากการทำงาน
ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านการมีส่วนร่วมทางการเงินของปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลเป็นไปในทิศทางเดียวกับสิ่งที่ธนาคารโลกได้กล่าวไว้ คือ การแพร่กระจายของอินเทอร์เน็ตและความเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เร่งอัตราการมีส่วนร่วมทางการเงินของคนทั่วโลกมากขึ้น การทำให้ผู้คนเข้าถึงระบบทางการเงินหลักสามารถทำให้พวกเขามีช่องทางในการออมเงินเพื่อการลงทุน การซื้อสินค้า การซื้อประกันต่างๆ เพื่อปกป้องตนเองจากโรคภัยและอันตรายต่างๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเพื่อบุตรหลานด้วย
Related posts
Tags: Financial Services, Management Strategy, Strategic Management
Recent Comments