การปล่อยก๊าซคาร์บอนของภาคการขนส่งทั่วโลกมีถึงหนึ่งในสี่ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก แต่ความต้องการด้านพลังงานก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ แล้วโลกของเราจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติภายในปี 2573 (ค.ศ.2030)
ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานสากลฉบับใหม่ล่าสุดขึ้นมาเพื่อช่วยให้การขนส่งรวมถึงการขนส่งอัจฉริยะ มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการเติบโตของเมืองอย่างอย่างยั่งยืน
สำหรับภาคการขนส่ง แอปพลิเคชันแบ่งปันการใช้รถ (Car-sharing apps) รถยนต์ไฟฟ้า รถประจำทาง และเลนสำหรับจักรยาน ได้มีส่วนช่วยให้ลดปริมาณความต้องการในการใช้บริการขนส่งลงแต่ก็ยังไม่เพียงพอเนื่องจากประชากรยังคงเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับความต้องการที่มากขึ้น ซึ่งหมายความว่าการขนส่งบนท้องถนนยังคงมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่นั่นเอง
หากการขนส่งอัจฉริยะใช้พลังงานน้อยลงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงก็หมายความว่าทุกคนจะหายใจได้สะดวกขึ้น สิ่งแวดล้อมและโลกก็จะดีขึ้น และยังทำให้เมืองมีเสน่ห์ ดึงดูดให้ผู้คนสนใจมากขึ้น ดังนั้น ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานสากลใหม่ขึ้นมา 2 ฉบับเพื่อช่วยในเรื่องนี้
มาตรฐานฉบับแรกคือ ISO 37161, Smart community infrastructures – Guidance on smart transportation for energy saving in transportation services ซึ่งให้แนวทางสำหรับองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านการขนส่ง รัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลระดับประเทศ หรือผู้อื่นที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้มีวิธีการลดพลังงานที่ใช้ในการขนส่งสำหรับผู้โดยสาร บริการส่งมอบ บริการขนส่ง และบริการไปรษณีย์ มาตรฐานนี้ให้ภาพทางเลือกของการประหยัดพลังงานที่สามารถรับไปใช้พร้อมกับการดูแลรักษาและการติดตามมาตรการประหยัดพลังงานต่างๆ
มาตรฐานอีกฉบับหนึ่งคือ ISO 37162, Smart community infrastructures – Smart transportation for newly developing areas ซึ่งช่วยให้นักวางผังเมืองที่ทำการพัฒนาเมืองและพื้นใหม่ๆ มีการนำบริการขนส่งไปใช้โดยไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการของประชากรโลกเท่านั้น แต่ยังเน้นประเด็นด้านความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืนด้วย
ดร.โยชิอากิ อิชิกาวา ประธานคณะอนุกรรมการไอเอสโอที่พัฒนามาตรฐานดังกล่าวระบุว่าการลดการบริโภคพลังงานและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการพิจารณาแบบองค์รวม เพราะเครือข่ายการขนส่งอาจมีความซับซ้อนซึ่งไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะที่ใช้เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับระบบปฏิบัติการทั้งระบบด้วย
มาตรฐานเหล่านี้ให้แนวทางด้านมุมมองทั้งหมดของการขนส่งรวมทั้งเกณฑ์และปัจจัยชี้วัดที่นำมาพิจารณาในการคัดเลือกทางเลือกของการประหยัดพลังงานเพื่อให้ได้ผลในระยะยาว
นอกจากมาตรฐาน ISO 37161 และ ISO 37162 แล้ว ยังมีมาตรฐานอีกหลายฉบับที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมการขนส่งอัจฉริยะร่วมกับมาตรฐานอื่นๆ เช่น ISO 37157 (มาตรฐานเกี่ยวกับการขนส่งอัจฉริยะสำหรับเมืองกระชับหรือ compact cities ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีการพัฒนาอย่างมุ่งเน้นการหยุดยั้งการขยายตัวของเมืองในแนวราบในพื้นที่ชานเมืองพร้อมกับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ใจกลางเมืองให้มีประสิทธิภาพ), ISO 37158 (มาตรฐานเกี่ยวกับการขนส่งอัจฉริยะที่ใช้พลังงานแบตเตอร์รี่รถโดยสารสำหรับบริการขนส่งผู้โดยสาร หรือ battery-powered buses for passenger services) และ ISO 37159 (มาตรฐานเกี่ยวกับการขนส่งอัจฉริยะสำหรับระบบขนส่งมวลชนเร็วระหว่างโซนเมืองขนาดใหญ่ หรือ rapid transit in and between large city zones)
มาตรฐานดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 268, Sustainable cities and communities คณะอนุกรรมการ SC 1, Smart community infrastructures โดยมีเลขานุการคณะทำงาน คือ JISC ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น
ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2490.html
Recent Comments