วันน้ำโลกตรงกับวันที่ 22 มีนาคมของทุกปี และวันน้ำโลกในปีนี้ องค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของน้ำกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด หากทั่วโลกมีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลงได้
น้ำเป็นหนึ่งในอาวุธอันทรงพลังที่จะต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากปราศจากน้ำ เราจะไม่สามารถสร้างป้อมปราการเพื่อปกป้องตามธรรมชาติอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าโกงกางหรือป่าพรุ ซึ่งทำให้เรารอดพ้นจากการเกิดน้ำท่วม การกัดกร่อน หรือการจับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ อันที่จริงแล้ว องค์กรของเราก็สามารถทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อจัดการกับน้ำและสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งไอเอสโอได้แนะนำไว้ ดังต่อไปนี้
1. คำนวณวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ขององค์กรของเรา การรู้ผลกระทบที่แท้จริงด้านสิ่งแวดล้อมของการใช้น้ำขององค์กรเป็นก้าวแรกในการปรับปรุงเรื่องการใช้น้ำของเรา และวิธีการที่ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันในการกำหนดประสิทธิภาพของการใช้น้ำในองค์กรก็คือ มาตรฐาน ISO 14046, Environmental management – Water footprint – Principles, requirements and guidelines ซึ่งครอบคลุมทุกเรื่องตั้งแต่ปริมาณ คุณภาพ และสถานที่ของน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการใช้พื้นที่หรือกิจกรรมอื่นๆ มาตรฐานนี้ยังช่วยให้องค์รสามารถระบุโอกาสในการลดผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้กับผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนต่างๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์รวมทั้งกระบวนการ ทำให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลก็คือไม่เพียงแต่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้เท่านั้นที่สามารถนำไปใช้ในการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก แต่ยังเป็นวิธีทีทำให้มั่นใจในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องด้วย
2. บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชากรที่เพิ่มขึ้น และการผลิตและการทำฟาร์มเกษตรที่มีการใช้น้ำปริมาณสูงจะเป็นแรงผลักดันให้เราไม่มีทางเลือก จึงต้องใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยปริมาณน้ำเท่าที่มีอยู่ให้เพียงพอ
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เมื่อนับร้อยปีที่ผ่านมา การใช้น้ำทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของประชากรโลก ซึ่งหมายความว่าคนจำนวน 700 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะขาดน้ำภายในปี 2573 (ค.ศ.2030)
ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักของระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก็คือ เราจำเป็นต้องรู้ว่าเราใช้น้ำไปมากน้อยแค่ไหน ใช้ที่ไหน และใช้อย่างไร รวมทั้งการมีกลยุทธ์ที่มีประสิทธิผลเพื่อเตรียมพร้อมในการลดการบริโภคลงและใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การมีกรอบการทำงานและแนวทางที่ชัดเจนด้านการบริหารจัดการน้ำเป็นการเตรียมวิธีการและเครื่องมือในการประเมินและการพึ่งพาการใช้น้ำ รวมทั้งวิธีในการระบุและนำตัวชี้วัดไปใช้เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุดและปรับปรุงวิธีการดำเนินการนั้นอย่างต่อเนื่อง
3. การนำน้ำเสียกลับมาใช้ซ้ำในการชลประทาน เกษตรกรรมเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณสูง ประชากรที่เพิ่มขึ้นหมายความถึงน้ำที่มากขึ้นในการใช้เพาะปลูกเพื่อการชลประทาน แต่ก็ยังมีอีกวิธีการหนึ่ง คือ การนำน้ำเสียกลับมาใช้ซ้ำซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลในการใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัด และปรับปรุงเรื่องวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ขององค์กร และยังช่วยบรรเทาปัญหาของชุมชนเกษตรกรรมในพื้นที่ที่เกิดการขาดแคลนน้ำ
น้ำเสียที่ได้รับการบำบัดสามารถนำไปใช้ในการถมที่เพื่อปรับปรุงด้านเกษตรกรรมและลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ย และการใช้น้ำเสียบำบัดที่ได้ผลผลิตดีจะช่วยป้องกันความสูญเสียเชิงนิเวศสำหรับแหล่งน้ำด้วย
ชุดมาตรฐาน ISO 16075 จำนวน 4 ฉบับ เป็นเครื่องมือหลักสำหรับอุตสาหกกรรมการเกษตร ซึ่งประกอบด้วยแนวทางสำหรับการพัฒนาและการนำโครงการบำบัดน้ำเสียไปปฏิบัติให้ได้ผล รวมทั้งการออกแบบ การใช้วัสดุ การก่อสร้างและสมรรถนะ และครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น คุณภาพน้ำ ชนิดของพืชผลที่สามารถทำการชลประทานได้ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและองค์ประกอบหลัก เช่น ระบบเครือข่ายท่อส่งน้ำและอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น
มาตรฐานในชุดนี้ได้รับการทบทวนเพื่อให้มีประสิทธิผลและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งไอเอสโอคาดว่ามาตรฐานฉบับปรับปรุงมีกำหนดจะประกาศวันที่ใช้งานได้ภายในปีนี้
4. แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องท่อระบายน้ำ คนจำนวนมากอาศัยระบบสุขาภิบาลที่มีอยู่แล้วในอาคารสถานที่ ระบบที่มีอยู่แล้วมีการบำบัดน้ำเสียไว้และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านสุขอนามัยที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงนักถ้ามีการนำไปใช้อย่างถูกต้องและมีการกำจัดของเสียอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หลายสถานที่ มีระบบที่ไม่ค่อยดีนักหรือใช้แหล่งน้ำจากแม่น้ำ ทะเล และลำธาร ทำให้พืชผลได้รับผลกระทบจากมลพิษของน้ำ
มาตรฐาน ISO 24521, Activities relating to drinking water and wastewater services – Guidelines for the management of basic on-site domestic wastewater services มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ด้วยการเสนอแนวทางเชิงปฏิบัติด้านการบริหารจัดการและการดูแลรักษาบริการน้ำเสียภายในประเทศขั้นพื้นฐาน ผลก็คือสิ่งอำนวยความสะดวกของระบบการสุขาภิบาลที่สะอาดยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และสิ่งแวดล้อมได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น
5. เปลี่ยนน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดี การนำมาตรฐาน ISO 24521 ไปใช้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เพียงแต่สามารถจัดการกับของเสียมนุษย์ด้วยวิธีการที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังทำให้กลายเป็นทรัพยากรที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเช่นน้ำสะอาดด้วย ส่วนมาตรฐาน ISO 31800 , Faecal sludge treatment units – Energy-independent, prefabricated, community-scale, resource recovery units – Safety and performance requirements เป็นมาตรฐานที่ระบุข้อกำหนดและวิธีทดสอบเพื่อให้มั่นใจในสมรรถนะและความปลอดภัยของหน่วยที่สามารถรองรับคนนับแสนคนได้ มาตรฐานนี้ได้รับการพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญโดยมีมูลนิธิบิลล์และเมลินดาเกตส์ ซึ่งกำหนดจะพิมพ์เผยแพร่ภายในปีนี้
เราไม่อาจรอให้ใครทำเรื่องดังกล่าวข้างต้นก่อน แต่ทุกองค์กรและทุกคนสามารถช่วยโลกให้พ้นจากสภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ตามบทบาทหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้โลกของเราสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว ยังช่วยปกป้องสุขภาพและช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ให้ดำรงอยู่บนโลกนี้อีกด้วย
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2492.html
2. https://www.worldwaterday.org/
Related posts
Tags: Standardization, Sustainability, water, water management
Recent Comments