บทความ เรื่อง ก้าวข้าม Covid-19 มุ่งสู่ SDGs ตอนที่ 1 ได้กล่าวว่าปรากฏการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนาได้ส่งผลต่อกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบย้อนกลับมาในเรื่องของมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่เราคาดไม่ถึงอีกด้วย ดังเช่นขยะจากโรงพยาบาลรวมทั้งขยะจากอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นและจำเป็นต้องมีการกำจัดอย่างถูกวิธี
นอกจากนี้ ก่อนที่จะเกิดภาวะโรคระบาดไวรัสโคโรนาในสหรัฐอเมริกาไม่กี่วัน ได้มีการประชุมประจำปี HealthPack 2020 ซึ่งเป็นการประชุมด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีข้อเสนอแนะที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการจัดการกับขยะทางการแพทย์ คือ ผู้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งยังคงมีบทบาทสำคัญในทางการแพทย์ ดังนั้น ผู้ผลิตพลาสติกรีไซเคิลทางการแพทย์จึงควรคำนึงถึงการออกแบบที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบด้วย
สำหรับบทความในตอนนี้ จะนำเสนอเรื่องราวของการจัดการกับขยะทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหนทางที่จะพลิกวิกฤตโรคระบาดให้กลายเป็นโอกาสในการก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ดังต่อไปนี้
การกำจัดขยะทางการแพทย์เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการวางแผนรับมือกับการแพร่ระบาดไวรัสและการฟื้นฟูหลังจากการระบาดโรคสิ้นสุดลง การกำจัดขยะทางแพทย์ที่ถูกต้องและเหมาะสมระหว่างที่ไวรัสยังระบาดอยู่จะทำให้สามารถยับยั้งการกระจายของไวรัสได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ การปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงอุปกรณ์กำจัดขยะทางการแพทย์ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้สามารถรับมือกับโรคระบาดไวรัสได้อย่างมีประสิทธิผลเช่นกัน
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี (Asia Development Bank) ได้ให้แนะนำให้มีวิธีการกำจัดขยะทางการแพทย์อย่างเหมาะสมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะต่อสู้กับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้โดยสามารถปรับปรุงการกำจัดขยะทางการแพทย์ได้ดังต่อไปนี้ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีการกำจัดขยะให้เหมาะสมตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกโดยมีการนำเทคโนโลยีที่จำเป็นมาใช้ การสนับสนุนระบบการกำจัดขยะทางการแพทย์ที่มีความยั่งยืน และการเพิ่มสมรรถนะในการจัดการกับการสุขาภิบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดไวรัสโคโรนา
ทั้งนี้ สามารถปรับใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อช่วยให้อุปกรณ์กำจัดขยะทางการแพทย์มีการใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ส่วนในท้องที่ชนบทหรือเมืองเล็กๆ ก็จำเป็นต้องมีกลยุทธ์การกำจัดขยะที่เหมาะสม การกำจัดขยะทางการแพทย์จึงต้องมีการควบคุมมลพิษที่เกิดจากการกำจัดขยะด้วยความระมัดระวัง ปัจจุบัน ยังคงใช้การฝังกลบขยะอันตราย แต่ในอนาคตอาจจะไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การขนส่งขยะที่มีราคาแพง ปริมาณและประเภทของขยะที่มีผลการการฝังกลบที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ดังนั้น เอดีบีจึงสนับสนุนการค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น วิธีการที่เรียกว่า plasma gasification ซึ่งเป็นการแปรรูปขยะทางการแพทย์ให้กลายเป็นก๊าซด้วยวิธีการพลาสมาซึ่งเหมาะสมกับการกำจัดขยะทางการแพทย์ เพราะสามารถนำพลังงานก๊าซมาใช้งาน เช่น ผลิตไฟฟ้า และช่วยลดมลพิษทางอากาศ เป็นต้น
ภายในปีนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา ประเทศจีน มีแผนการอย่างเป็นทางการในการสร้างโรงกำจัดขยะทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานในทุกจังหวัด โดยจะต้องมีวิธีการรวบรวม การขนส่ง และการกำจัดขยะทางการแพทย์ตามมาตรฐาน
การจัดการกับขยะทางการแพทย์ในภาวะที่เกิดโรคระบาดจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการต่อสู้กับภาวะโรคระบาดไวรัสโคโรนา และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดี (Good Health and Well-Being) และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
แม้ว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะวิกฤตโรคระบาดไวรัสโคโรนา แต่ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น กลับกลายเป็นความท้าทายและโอกาสของประชาคมโลกในการเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามปัญหาต่างๆ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป
2. https://blogs.adb.org/blog/proper-disposal-medical-waste-can-help-us-cope-pandemics
3. http://www.xinhuanet.com/english/2020-03/10/c_138863442.htm
Related posts
Tags: Environmental Management, Healthcare Equipment & Services, Sustainability Management
Recent Comments