จากข้อมูลของ Global Entrepreneurship Monitor’s (GEM) พบว่าธุรกิจขนาดเล็กทั่วโลกที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือมีการจัดการโดยผู้หญิงมีถึง 51% แต่มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงมีการเข้าถึงเงินลงทุนและตลาดได้ยากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมักถูกมองว่ามีความสามารถในบริหารจัดการหรือประสบการณ์ไม่เท่ากับผู้ชาย
หากมีการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจให้กับผู้ประกอบการหญิงแล้ว ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจเอสเอ็มอีให้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น ไอเอสโอตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการหญิง จึงมีความพยายามในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาจัดทำเป็นเอกสารข้อตกลงการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศ ( International Workshop Agreement: IWA) ในหัวข้อธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ ซึ่งมี SIS สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสวีเดน เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
IWA เป็นเอกสารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความหมายและแนวทางเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับผู้หญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งความหมายของมาตรฐานจะช่วยให้การรวบรวมข้อมูลระหว่างประเทศสามารถนำไปเปรียบเทียบกันได้รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจในระดับประเทศ
เอกสารดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการหญิงซึ่งเพิ่มโอกาสในด้านการจัดซื้อทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนเพิ่มการเข้าถึงโครงการที่ให้สิทธิพิเศษหรือแรงจูงใจต่างๆ และลดค่าใช้จ่ายในการรับการรับรองสำหรับโครงการต่างๆ ของซัพพลายเออร์
ในระยะยาว การจัดทำเอกสาร IWA จะทำให้เกิดความเข้าใจและความพยายามในงานด้านการมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมกันทางเพศและหัวข้อที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ เอกสาร IWA ยังเป็นแนวทางการใช้งานที่จะทำให้เกิดความชัดเจนในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งผู้หญิงจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอันนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย โดยเฉพาะในหัวข้อที่ 5 ความเท่าเทียมกันทางเพศ (Gender Equality) ซึ่งมีตัวชี้วัดถึง 50 ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง และ 20 ตัวชี้วัดเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้มีพลังด้านเศรษฐกิจ หัวข้อที่ 1 การขจัดความยากจนให้หมดไป (No Poverty) และหัวข้อที่ 8 ความเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work and Economic Growth)
เอกสารนี้เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ISO 26000 – Social Responsibility IWA 26 – Using ISO 26000 in Management System และงานที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 309 Governance of organization และในอนาคตอาจเกี่ยวข้องกับงานที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 322 Sustainable Finance ด้วย
Related posts
Tags: ISO, Social, Standardization
ความเห็นล่าสุด