โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environmental Program: UNEP) ได้ประกาศให้วันคุ้มครองโลกตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี
เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในสหรัฐอเมริกา มีคนจำนวน 20 ล้านคนได้ออกจากบ้านมาชุมนุมตามเมืองใหญ่ๆเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2513 (ค.ศ.1970) ได้มีการจัดตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency: US-EPA) และนำไปสู่การบัญญัติกฎหมายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากจนกระทั่งกลายเป็นที่มาของวันคุ้มครองโลกนั่นเอง
ในปีนี้ หัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการหยิบยกมาเป็นหัวข้อสำคัญในการรณรงค์วันคุ้มครองโลก ซึ่งมีความท้าทายและโอกาสรออยู่เบื้องหน้าของพลเมืองโลก ในอนาคต โลกของเรายังคงต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งต้องมีการปรับปรุงแก้ไขระบบนิเวศต่างๆ ที่เกื้อหนุนสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้และทำให้โลกของเราสามารถพึ่งพิงและเป็นที่อยู่อาศัยได้
ในปีนี้ มีองค์กรสากลหลายแห่งได้เตรียมการรณรงค์เพื่อให้คนทั่วโลกให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น องค์กร Earthday ตั้งเป้าหมายว่าเนื่องในวันคุ้มครองโลกในวันคุ้มครองโลกปีนี้ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีอาสาสมัครทั่วโลกเป็นจำนวนมากมาร่วมกันกำจัดขยะจากชุมชนและในแหล่งน้ำต่างๆ ในแต่ละท้องที่เพื่อให้ชุมชนมีสุขอนามัยที่ดี นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอแอปพลิเคชัน Earth Challenge 2020 Plastics ให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถใช้งานได้ฟรีทั้งในระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส ซึ่งจะทำให้มีส่วนร่วมทางวิทยาศาสตร์ด้วยการให้ข้อมูลเรื่องพลาสติกและมลพิษในท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับคนทั่วโลก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา ทำให้เครือข่ายองค์กรวันคุ้มครองโลกได้ประกาศเลื่อนการรณรงค์การทำความสะอาดและกำจัดขยะจากชุมชนและในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วโลกออกไปก่อน แต่ก็ได้ให้ข้อสังเกตว่าหากสถานที่ใดมีความพร้อมตามเกณฑ์ความปลอดภัยในสถานการณ์ปัจจัน ก็อาจจะดำเนินการได้โดยปรึกษากับองค์กรท้องถิ่น ซึ่งเครือข่ายองค์กรวันคุ้มครองโลกยังคงให้ข้อเสนอแนะว่าการกำขจัดขยะอย่างเหมาะสมและการรีไซเคิลยังคงเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลดภาวะโลกร้อนได้ ซึ่งขยะที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพลาสติกสามารถมีผลกระทบต่อระบบนิเวศได้มากดังเช่นที่มีข่าวว่าสัตว์ต่างๆ กลืนกินพลาสติกเข้าไปจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
เรามักจะมองไม่เห็นผลกระทบของขยะที่ขาดการบริหารจัดการที่ดีเท่าใดนัก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงมากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิด เช่น การกลืนกินขยะพลาสติกของสัตว์ลงไปในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกก็สามารถหลุดเข้าไปในห่วงโซ่อาหารได้เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ด้วย เป็นต้น
ดังนั้น เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะให้ถูกต้องและดูแลไม่ให้มีขยะตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำ ความร่วมมือของแต่ละคนอาจดูเล็กน้อย แต่เมื่อทุกคนร่วมมือกันทำก็จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่และสร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ การใช้แอปพลิเคชัน Earth Challenge app ก็จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์รู้และเข้าใจว่าขยะและของเสียต่างๆ กระจายออกไปสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
สำหรับบุคคลหรือองค์กรที่สนใจที่จะมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะและดูแลแหล่งน้ำให้ปลอดจากขยะตกค้าง สามารถตรวจสอบรายการที่ควรทำเพื่อความปลอดภัยด้านสุขลักษณะได้จากเว็บไซต์ https://cleanup.earthday.org/pages/checklist-for-organizers ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการได้ และถึงแม้ว่าโลกของเรายังตกอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด แต่การกำจัดขยะก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกอยู่แล้ว การร่วมมือกันกำจัดขยะให้ถูกต้องและดูแลไม่ให้ขยะตกค้างในแหล่งน้ำจึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนสามารถทำได้ทันทีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้โลกของเราสะอาดยิ่งขึ้น และส่งเสริมเรื่องการแก้ไขปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ดีขึ้น
ที่มา: 1. https://www.earthday.org/earth-day-2020/
2. https://www.earthday.org/press-release/earth-day-network-launches-the-great-global-cleanup-at-clean-world-conference/
3. https://cleanup.earthday.org/
Related posts
Tags: Environmental Management, Sustainability, Sustainability Management
ความเห็นล่าสุด