MASCI innoverity เคยนำเสนอบทความ เรื่อง “แบล็คสวอน กับ โบอิ้ง 777 เครื่องบินที่ปลอดภัยที่สุดในโลก” ซึ่งได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 เที่ยวบินที่ MH370 ของสายการบินมาเลเซียได้หายไปจากน่านฟ้าขณะบินอยู่เหนือน่านน้ำมาเลเซีย-เวียดนาม เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เรียกว่าเป็นเหตุการณ์ “แบล็คสวอน” หรือหงส์ดำนั่นเอง เหตุการณ์แบบนี้ยากที่จะทำนายการเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วกลับมีผลกระทบอย่างรุนแรง
หลายคนตั้งคำถามว่าแล้วเหตุการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา หรือ Covid-19 เป็นเหตุการณ์แบล็คสวอนหรือไม่ มีนักวิเคราะห์ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น เอริค โฮลเดอแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านเหตุฉุกเฉินกล่าวว่าสถานการณ์นี้ไม่ใช่แบล็คสวอน เนื่องจากมีการวางแผนและการดำเนินการด้านโรคระบาดไข้หวัดใหญ่ในลักษณะนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เขาให้ความเห็นว่าการเรียกเหตุการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนาอาจเป็นการขยายความให้ดูใหญ่โตมากจนเกินไป
ในขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กล่าวว่าเหตุการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนาคือแบล็คสวอนเนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวงในวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้เลย เช่น การติดเชื้อไวรัสบนเรือสำราญเป็นจำนวนมาก การปิดสนามบินในหลายประเทศ การปิดเมืองต่างๆ ทั่วโลก การเสียชีวิตของประชากรโลกเป็นจำนวนมากจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือแม้กระทั่งการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง เป็นต้น
ตามความหมายของนาสซิม นิโคลัส ทาเล็บ เจ้าของแนวความคิดแบล็คสวอน ได้กล่าวไว้ว่าแบล็คสวอนหมายถึงสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงมากมาย และหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้น สามารถอธิบายถึงการเกิดเหตุการณ์และสามารถทำนายเหตุการณ์ต่อไปในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คนทั้งโลกต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ผลของโรคระบาดนี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย มาตรการต่างๆ ที่ช่วยป้องกันโรคระบาด เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การกักตัวผู้ติดเชื้อ การหยุดงาน การทำงานที่บ้าน เป็นต้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกอย่างรุนแรง
โรคระบาดไวรัสโคโรนาได้คร่าชีวิตประชากรโลกไปมากกว่า 80,000 คน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นอย่างมาก จากรายงานขององค์กร UNCTAD (United Nations Conference on Trade and Development) 2020 ระบุว่าดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2547 และประเมินว่าจะสร้างความเสียหายต่อการส่งออกในห่วงโซ่อุปทาน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยมีผลกระทบมากสุดใน EU (15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา (5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ญี่ปุ่น (5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เกาหลี (3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เวียดนาม (2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 11 มูลค่าความเสียหาย 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เนื่องจากประชากรโลกได้หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่าในอดีตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและเทคโนโลยี
แม้ว่าทั่วโลกจะประสบกับภาวะวิกฤตต่างๆ แต่คนทั่วโลกได้พบกับโอกาสใหม่ๆ เช่นกัน จากรายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) 2020 ได้นำเสนอบทเรียนของประเทศจีนว่าการจัดการกับภาวะวิกฤตได้ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านสื่อสังคมอย่างวีแชท และเว่ยป๋อ นอกจากนี้ ยังทำให้มีการดำเนินการตามมาตรการทางการเงินและการคลังที่รวดเร็ว และภาคธุรกิจเกิดโอกาสใหม่ๆ เช่น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การให้บริการออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งประเทศอื่นๆ ต่างก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากภาวะวิกฤตนี้เช่นกัน
ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด เรายังประสบกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย เช่น การทำงานที่บ้าน (Work from Home) สังคมไร้เงินสด การซื้อของและขายของออนไลน์ที่มีมากขึ้น การคิดค้นอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และถึงแม้ว่าธุรกิจบางอย่างจะไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ แต่องค์กรก็สามารถถือโอกาสนี้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นในขณะที่เกิดเหตุไม่คาดคิดเช่นนี้ได้เช่นกัน
กล่าวกันว่าวิกฤตโรคระบาดนี้เปรียบเสมือนสงครามโลกครั้งที่ 3 และกำลังกลายเป็นบททดสอบความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติซึ่งทั่วโลกจะต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ และนี่คือไวรัสที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ที่มา: 1. https://www.govtech.com/em/emergency-blogs/disaster-zone/is-covid-19-a-black-swan-event.html
2.https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_18Mar2020.aspx
Related posts
Tags: Black swan event, Black Swan theory, Coronavirus, COVID-19, Future Management, Future watch, Risk Management
Recent Comments