การตัดสินใจเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ประกอบการตัดสินใจ แต่บางครั้ง คนเราอาจตัดสินใจบนพื้นฐานของอารมณ์มากกว่าเหตุผล อาน์ ลอ เลอคัฟ นักประสาทวิทยา ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบเนสส์แล็บส์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ได้กล่าวว่าคนที่ชาญฉลาดบางครั้งก็อาจมีการตัดสินใจที่อาจดูโง่เขลาหรือขัดแย้งกับข้อเท็จจริงได้ ตัวอย่างเช่น สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาจำนวนครึ่งหนึ่งไม่เห็นด้วยว่าสภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีอยู่จริงและเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมในขณะที่นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่ามีอยู่จริง เป็นต้น สิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความชาญฉลาดแต่อย่างใด แต่เกี่ยวข้องกับความเชื่อรวมทั้งความเชื่อของผู้อื่นที่ได้แบ่งปันกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น การตัดสินใจจึงอาจเชื่อมโยงกับคุณค่าของชุมชนมากกว่าการตัดสินใจที่มีเหตุผล
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของคนเราบางครั้งก็ผิดพลาดเนื่องจากขาดข้อมูลที่สมบูรณ์ หรือมีเส้นตายของเวลาทำให้ต้องรีบเร่งตัดสินใจ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ ตัวอย่างเช่น จากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนาที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำประเทศและองค์กรต่างๆ ต้องรีบตัดสินใจดำเนินการเพื่อยับยั้งโรคระบาดอย่างมีประสิทธิผล
โธมัส เอ็ช ดาเวนพอร์ท (ศาสตราจารย์พิศิษฐ์) อาจารย์และที่ปรึกษาอาวุโสของดีลอยท์ได้เขียนบทความเรื่อง วิธีการตัดสินใจที่ดีกว่าในเรื่องไวรัสโคโรนาโดยได้หยิบยกตัวอย่างเหตุการณ์และประสบการณ์ที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้
โดยทั่วไป การตัดสินใจมีความจำเป็นสำหรับการบริหารงานขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต จะยิ่งมีความท้าทายมากขึ้นเพราะอนาคตยังคงไม่แน่นอน และเหตุผลหนึ่งก็คือเนื่องจากอคติที่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงรับรู้มีแนวโน้มว่าจะอยู่ในสภาวะที่มีความกดดันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดพลาดและเสียหายได้
แดเนียล คาห์นีมาน นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมศาสตร์ และเอมัส เทอเวอร์สกี นักจิตวิทยาได้กล่าวว่าการมีอคติเชิงรับรู้ในระดับหนึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซึ่งบ่อยครั้งเป็นไปในทางลบ
ตัวอย่างการตัดสินใจของผู้บริหารประเทศหรือนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคระบาด Covid-19 ได้ส่งผลกระทบต่อคนนับล้านคน ความเชื่อและสัญชาตญาณมีอำนาจทรงพลังในการชี้นำให้คนตัดสินใจ และหากเราพยายามทำความเข้าใจกับอคติของตัวเองแล้ว ก็จะมีโอกาสในการก้าวไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่า
ดาเวนพอร์ท ได้ประมวลเรื่องของอคติที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเรื่อง Covid-19 ไว้หลายด้าน ได้แก่
- อคติที่เกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคม เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาถึงสถานะปัจจุบันของสังคมกับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นซึ่งทำให้ไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นใหม่ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราคิดว่าเราวางแผนเหตุการณ์นี้แล้ว เราก็ควรจะทำตามโดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมา ดังนั้น เพื่อที่จะป้องกันการตัดสินใจที่ผิดพลาดเช่นนี้ เราอาจถามตัวเองว่า ถ้าเราวางแผนที่จะทำตามแผนนี้ในวันนี้แล้ว สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร เช่น เมื่อวางแผนที่จะเดินทางด้วยเที่ยวบินในวันนี้ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะทำอย่างไร คำตอบที่คนส่วนใหญ่เลือกก็คือ เลื่อนการเดินทางออกไป
- อคติที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไวรัสโคโรนาสามารถก้าวข้ามพรมแดนและไม่มีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่มนุษย์เรานี่เองที่ดึงเอาเรื่องโรคระบาดมาเป็นประเด็นทางการเมือง ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกนำมาโจมตีในหลายประเด็น โดยในช่วงแรกที่เกิดวิกฤตของโรคระบาดดังกล่าว ผู้นำประเทศได้ออกมาปฏิเสธถึงความรุนแรงของโรคแต่ต่อมาก็ยอมรับถึงความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนั้น เราสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทางเว็บไซต์ที่ตรวจสอบข่าวลวงได้ เช่น PolitiFact และ FactCheck.org เป็นต้น
- อคติที่ได้รับการสนับสนุนและยืนยันข้อมูล เรื่องนี้เกิดขึ้นมากกว่ากรณีของอคติทางการเมืองด้วยซ้ำ กล่าวคือ เรามักค้นห้าข้อมูลที่เราสนใจและสนับสนุนความคิดเห็นของตัวเราเอง อคติเกี่ยวกับโรคระบาดได้รับการสนับสนุนความคิดจากข้อมูลเรื่องโรคระบาดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่นำไปสู่การตีความผิดๆ ในเนื้อหาของโซเชียลมีเดีย เช่น ถ้าคนๆ หนึ่งมีอคติกับประเทศจีน คนๆ นั้นก็อาจจะรู้สึกชอบใจกับเนื้อหาใน Tweeter ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่กล่าวถึงที่มาของไวรัสว่ามาจากประเทศจีน แต่ถ้าคนๆ หนึ่งมีอคติกับสหรัฐอเมริกา คนๆ นั้นก็อาจจะเชื่อสิ่งที่โซเชียลมีเดียกล่าวหาว่าสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาไวรัสแล้วนำไปแพร่ไว้ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นต้น ดังนั้น หัวใจสำคัญในการป้องกันอคติที่ได้รับการยืนยันก็คือการค้นหาแหล่งข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับอคติของตัวเรา เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบการตัดสินใจ
นอกจากนี้ ยังมีอคติอีก 4 ด้านที่ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ โปรดติดตามในครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: 1. https://nesslabs.com/decision-making
2. https://sloanreview.mit.edu/article/how-to-make-better-decisions-about-coronavirus/
Recent Comments