โลกของเรากำลังขาดแคลนน้ำแล้วหรือ ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของประชากรโลกส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำใช่หรือไม่ อันที่จริงแล้ว ทรัพยากรน้ำที่หาได้ยากมากขึ้นเช่นนี้เกิดจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทำให้เกิดภาวะความแห้งแล้งและคลื่นความร้อนไปทั่วโลก ซึ่งในภูมิภาคต่างๆ ของโลกก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม องค์กรต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดีด้วยการจัดการน้ำในระดับองค์กร
ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization : ISO) เป็นองค์กรสากลที่มีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับให้องค์กรทั่วไปมีการจัดการในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ เมื่อไม่นานมานี้ ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำและสาธารณูปโภคขึ้นมา คือ มาตรฐาน ISO 46001: 2019 ระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ – ข้อกำหนดพร้อมคำแนะนำสำหรับการใช้งาน (ISO 46001:2019 Water efficiency management systems — Requirements with guidance for use) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นเพื่อให้องค์กรที่ต้องการบรรลุสมรรถนะของการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมีการนำไปใช้งานอันเป็นการช่วยให้องค์กรสามารถประเมินจุดที่มีการใช้น้ำอย่างมีนัยสำคัญ (Significant water use) และมีการจัดทำบัญชีสำหรับสมดุลการใช้น้ำขององค์กร (Water Balance) เพื่อนำไปสู่การวางแผนและดำเนินการตามมาตรการเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ในการจัดการ และการลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
ทั้งนี้ โดยการหาโอกาสในการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือที่เรียกว่าน้ำหมุนเวียน (Reclaimed Water) ผ่านกระบวนการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม การบรรลุสมรรถนะของการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นจากทุกระดับและทุกหน้าที่ภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงในการจัดการอย่างเป็นระบบ หากองค์กรต่าง ๆ สามารถนำมาตรฐานนี้มาประยุกต์ใช้ในองค์กรได้ ก็จะส่งเสริมให้องค์กรมีการจัดการการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับความต้องการการใช้น้ำให้เหมาะสม มีการสร้างตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการใช้น้ำ และสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคในเรื่องของความรับผิดชอบในการใช้น้ำ อีกทั้งยังทำให้มีกระบวนการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากมาตรฐาน ISO 46001: 2019 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว องค์กรยังสามารถนำมาตรฐานอื่น ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ด้วย เช่น การประเมินวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ตามแนวทาง ISO 14046:2014 Environmental management — Water footprint — Principles, requirements and guidelines ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ช่วยในการประเมินปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการทั้งทางตรงและทางอ้อมขององค์กร โดยคำนวณปริมาณน้ำจากผลรวมของทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่ของการผลิตสินค้าและบริการนั้นตามหลักการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life cycle assessment) ปริมาณน้ำที่ใช้สามารถวัดได้จากปริมาณน้ำที่ใช้ไปและ/หรือ ปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยออกมา ซึ่งทำให้วอเตอร์ฟุตพริ้นท์เป็นเครื่องชี้วัดที่ชัดเจน ถึงแม้ว่าจะทำการประเมินการใช้น้ำตามหลักการวอเตอร์ฟุตพริ้นท์แล้ว การจัดการน้ำขององค์กรยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกหากมองหาหลักการและมุมมองใหม่ ๆ ที่ช่วยในการปรับปรุงกิจกรรมการใช้น้ำขององค์กร เช่น BS 8001:2017 Framework for implementing the principles of the circular economy in organizations Guide ซึ่งเป็นแนวทางสากลอีกแนวทางหนึ่งที่ประเทศไทยได้นำมาพิจารณาและกำหนดเป็นมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติในปัจจุบัน
แนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร หรือ มตช. 2-2562 ซึ่งมีการอ้างอิงจาก BS 8001: 2017 ได้ประกาศใช้โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม และนโยบายรัฐบาลด้าน BCG (Bio economy, Circular economy และ Green economy) มาตรฐานนี้ได้กล่าวถึงการนำหลักการ 3 R มาใช้ ได้แก่ การลดปริมาณการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ถึงแม้ว่าหลักการนี้จะเป็นที่ทราบโดยทั่วกัน แต่สาระสำคัญของมาตรฐานแนวทางฉบับนี้ ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจโดยเน้นการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการทรัพยากรการไหลเวียนของวัสดุให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการลดของเสียจากการดำเนินงานให้น้อยที่สุด
มาตรฐานและแนวทางสากลดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรสามารถจัดการการใช้น้ำในองค์กรได้อย่างเป็นระบบตามความสมัครใจ ซึ่งไม่เพียงจะได้รับประโยชน์ในระดับองค์กรสำหรับการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนด้านทรัพยากรระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศด้วย เช่น การสนับสนุนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และความยั่งยืนระดับโลกตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าประสงค์ที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล เป็นต้น
องค์กรทุกองค์กรสามารถมีส่วนในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดีด้วยการนำมาตรฐานและแนวทางสากลในการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพไปใช้ในองค์กร ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการทำให้องค์กรมีความยั่งยืนด้วยเช่นกัน
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกองค์กรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำด้วยการนำเครื่องมือจัดการองค์กรตามแนวทางสากลอย่างมาตรฐานระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมาประยุกต์ใช้ การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เกิดจากจุดเล็กๆ เสมอ ท่านสามารถเริ่มต้นจากองค์กรของตนเอง และเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่นซึ่งจะทำให้เกิดการขยายไปสู่วงกว้างขึ้นจนะกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนต่อไป
ที่มา: 1. https://www.iso.org/standard/68286.html
2. https://www.iso.org/obp/ui/#iso:std:iso:14046:ed-1:v1:en
3. https://www.bsigroup.com/en-GB/standards/benefits-of-using-standards/becoming-more-sustainable-with-standards/BS8001-Circular-Economy/
Related posts
Tags: Circular Economy, Climate Change, Standardization, Sustainability, Sustainability Management, Water efficiency management, water management
Recent Comments