เราอาจคิดว่าอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมการบินเป็นสาขาที่สร้างมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก แต่อันที่จริงแล้ว อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษมากที่สุดในโลก ยกตัวอย่างเฉพาะการใช้วัสดุคอนกรีตในอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งใช้กันมากที่สุดทั่วโลก มีการเปรียบเทียบว่าหากอุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นประเทศๆ หนึ่งแล้ว ประเทศนี้จะเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันดับสามของโลกด้วยปริมาณมากกว่า 2.8 พันล้านตัน และจากข้อมูลของวารสาร Sustainable Build ระบุว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นแหล่งก่อมลภาวะจำพวกฝุ่นละอองเป็นจำนวน 4% ซึ่งยังไม่รวมถึงผลกระทบที่มีต่อดิน น้ำ และมลภาวะทางเสียง
ดังนั้น หากอุตสาหกรรมก่อสร้างสามารถลดการเกิดมลพิษทางอากาศลงได้ ก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน มีความคืบหน้ามากขึ้นในเรื่องนี้แล้ว
จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 39% ของอุตสาหกรรมสาขาก่อสร้างและอาคาร เมื่อปี 2561 (ค.ศ.2018) ทำให้เกิดความตระหนักว่าจะต้องลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยให้โลกมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นหมายถึงความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นด้วย จากการเพิ่มขึ้น 1% ในปี 2560 (ค.ศ.2017) ไปเป็น 7% ในปี 2553 (ค.ศ.2010)
โครงการ Global ABC ขององค์การสหประชาชาติซึ่งมีเป้าหมายในการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในภาคส่วนอาคารเปิดเผยว่าได้คาดการณ์ว่าการก่อสร้างอาคารทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) หากไม่มีมาตรการในเรื่องนี้ ความต้องการด้านพลังงานอาจเพิ่มขึ้นถึง 50% ในช่วงเดียวกันนี้
ปัญหาคือพลังงานที่ใช้ไปแล้วทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึงขนาดนั้น แล้วการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำได้อย่างไร
ธุรกิจที่อยู่ในภาคส่วนอาคารและอุตสาหกรรมก่อสร้างรวมทั้งรัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าสิ่งนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งและจะส่งผลให้โลกบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
อย่างไรก็ตาม การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหามลพิษทางอากาศ อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นภาคส่วนหลักของเศรษฐกิจที่มีศักยภาพเข้มแข็งในการลดความยากจนลงทั้งในแง่ของการจ้างงานและการทำให้สังคมและชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นซึ่งมีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงด้านความยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่มีการก่อสร้างมากขึ้นเป็นความท้าทายอย่างมาก การซ่อมแซมบูรณะสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ต้องใช้ทั้งเวลาและเงินเช่นเดียวกับการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ซึ่งไอเอสโอได้สนับสนุนการก่อสร้างให้มีความยั่งยืนด้วยการพัฒนามาตรฐาน ISO 15392, Sustainability in buildings and civil engineering works – General principles
ล่าสุด ไอเอสโอได้ปรับปรุงมาตรฐาน ISO 15392 เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งกำหนดหลักการที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในการบรรลุความยั่งยืนสาขาการก่อสร้างและภาคส่วนอาคาร โดยให้แนวทางของภาษาที่สามารถใช้ร่วมกันได้สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมนี้ นับตั้งแต่นักออกแบบ ผู้ผลิต ไปจนถึงผู้ควบคุมกฎ และผู้บริโภคซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการสื่อสารและการพัฒนาเกณฑ์การประเมินด้วย
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมก่อสร้างและภาคส่วนอาคารทั่วโลกให้ความใส่ใจกับการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ในการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อเดือนกันยายน 2562 ภาคส่วนอาคารได้ให้พันธสัญญาในการทำให้ภาคส่วนนี้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ และมีส่วนร่วมในการลงทุนด้านอาคารในประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2573 (ค.ศ.2030)
ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักลงทุนกลุ่มหนึ่งได้ก่อตั้งสถาบันเครือข่ายพันธมิตรเจ้าของกิจการการทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ (Net-Zero Asset Owner Alliance) ซึ่งได้ร่วมกันนำเสนอการบริหารทรัพย์สินโดยใช้เงินลงทุน 4 พันล้านเหรียญสหรัฐและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การลงทุนสามารถแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนโดยลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)
โครงการเป็นจำนวนไม่น้อยที่มีพันธสัญญาและมีสิ่งจูงใจที่มีนัยสำคัญในการเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เอ็มมา ริเซีย ผู้จัดการของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 163 ด้านการวัดพลังงานที่ใช้ในอาคารกล่าวว่า มาตรฐานสามารถมีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือพื้นฐานในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความก้าวหน้า มาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในการวัดเกณฑ์ของอาคารต่างๆ ที่มุ่งไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนมีความหมายอย่างลึกซึ้งที่จะทำเช่นนั้น
มาตรฐานชุด ISO 52000 (Energy Performance of Buildings) เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งได้มีการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์โดยประเมินสมรรถนะพลังงานที่ใช้ในอาคารโดยภาพรวม เอกสารเหล่านี้ประกอบด้วยวิธีการที่รัดกุมในการคำนวณพลังงานที่ใช้ไปโดยให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรกสำหรับการทำความร้อน ความเย็น แสงไฟ ระบบระบายอากาศ และการใช้น้ำร้อนภายในอาคาร
มาตรฐานนี้ยังช่วยดูแลประสิทธิภาพพลังงานในอาคารด้วยการวัดสมรรถนะของวัสดุใหม่ เทคโนโลยี และแนวทางในการออกแบบอาคาร การก่อสร้าง และการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐาน ISO 21931 ซึ่งอุตสาหกรรมก่อสร้างสามารถใช้ในการประเมินความยั่งยืนของงานวิศวกรรมโยธาได้ด้วย และนอกจากองค์กร GlobalABC และ Net-Zero Asset Owner Alliance ที่มีเป้าหมายในการทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ในภาคส่วนอาคารแล้วยังมีเครือข่ายองค์กรสากลอีกจำนวนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นในการทำให้อาคารทั่วโลกใช้พลังงานเป็นศูนย์ รวมทั้งพันธสัญญาจากรัฐบาลทั่วโลกด้วย โปรดติดตามรายละเอียดในครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2510.html
2. https://gocontractor.com/blog/how-does-construction-impact-the-environment/
Related posts
Tags: carbon management, ISO, Standardization, Sustainability
Recent Comments