MASCI Innoversity ครั้งที่แล้ว ได้นำเสนอบทความ เรื่อง องค์กรสากลกับมาตรฐานความยั่งยืนสำหรับงานก่อสร้าง ตอนที่ 1 ซึ่งได้กล่าวถึงบทบาทของอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาคส่วนอาคารทั่วโลกว่าได้ให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นภาคส่วนที่ทำให้เกิดมลพิษมากที่สุดในโลก และยังเป็นภาคส่วนหลักของเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการลดความยากจนลง จึงมีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไอเอสโอได้สนับสนุนการก่อสร้างที่ยั่งยืนด้วยการพัฒนามาตรฐาน ISO 15392, Sustainability in buildings and civil engineering works – General principles
สำหรับบทความในตอนที่ 2 นี้ จะกล่าวถึงบทบาทขององค์กรสากล เช่น สภาอาคารสีเขียวโลก (World Green Building Council: WorldGBC) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันการลดก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และบทบาทของไอเอสโอในการพัฒนามาตรฐานอีกฉบับหนึ่ง คือ ISO 21931 ดังต่อไปนี้
การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกต้องอาศัยความร่วมมือของภาคธุรกิจ ภาครัฐ และองค์กรต่างๆ รวมทั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากทั่วโลกเพื่อร่วมกันปฏิบัติการลดคาร์บอนในสภาพแวดล้อมลงให้ได้ สำหรับองค์กรสากลเช่น WorldGBC มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมก่อสร้างและอาคารภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) โดยสมาชิกของ WorldGBC ได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการการรับรอง โครงการการศึกษาและโครงการอื่นๆ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมก่อสร้างและอาคารก้าวไปสู่การทำคาร์บอนให้เป็นศูนย์
นอกจากนี้ ยังมีองค์กรสากลอีกแห่งหนึ่งซึ่งต้องการช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านการลดก๊าซคาร์บอนในสาขาอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้แก่ สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development: WBCSD) ซึ่งเป็นองค์กรที่นำโดยซีอีโอระดับโลกที่มีเป้าหมายในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้จัดทำโครงการความมีประสิทธิภาพของพลังงานในอาคารซึ่งมีเป้าหมายการใช้พลังงานในอาคารสามารถลดลง 50% ภายในปี 2673 (ค.ศ.2030) โดยใช้เทคโนโลยีและวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีทางเศรษฐกิจ โครงการนี้ต้องใช้วิธีการที่เชื่อมโยงภาคเอกชนกับรัฐบาลท้องถิ่นเข้าด้วยกันเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายและกิจกรรมต่างๆ จะรวมอยู่ในที่เกี่ยวกันเพื่อสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
ปัจจุบัน WBCSD ทุ่มเทให้กับการทำให้ภาคส่วนอาคารสามารถลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ด้วยการกระตุ้นให้อาคารเดิมที่มีอยู่แล้วมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติมและส่งเสริมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน นับตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการรื้อถอน หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยได้จัดทำแพล็ตฟอร์มเพื่อให้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์และเน้นการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น นโยบายสาธารณะ การเงิน และการศึกษา เป็นต้น
รัฐบาลเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดอาคารที่ยั่งยืน ซึ่งมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก และเมื่อปี 2558 (ค.ศ.2015) มีประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 184 ประเทศได้เข้าร่วมในข้อตกลงปารีสและเห็นด้วยกับการประกาศพันธสัญญาด้านภูมิอากาศระดับประเทศซึ่งเป็นข้อเสนอการดำเนินการที่รู้จักกันในชื่อของ NDCs (Nationally Determined Contributions) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต่อสู้กับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น (สำหรับประเทศไทย ได้เข้าร่วมเช่นกันโดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติภายในปี 2573)
จากข้อเสนอ NDC ทั่วโลก พบว่าหลายประเทศมีปฏิบัติการเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสมรรถนะด้านอาคารถึงแม้ว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานจะไม่ได้เกิดขึ้นในระดับที่เพียงพอที่จะทดแทนความก้าวหน้าในการลดก๊าซคาร์บอนโดยรวมก็ตาม
การออกแบบด้านความยั่งยืนโดยรวมเข้าไปในกระบวนการของอาคารแต่เดิมนั้นทำได้ด้วยการลงทุนด้านค่าใช้จ่าย เช่น อาคารที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง การเปลี่ยนแปลง และการใช้ทรัพยากร ซึ่งจำเป็นต้องใช้การลงทุนมากขึ้นในภาคส่วนอาคาร แต่เมื่อปี 2561 (ค.ศ.2018) ระดับการลงทุนเริ่มลดลง แล้วโลกของเราจะทำอย่างไร
การออกแบบด้านความยั่งยืนคือจุดเริ่มต้นที่ดีของคำตอบดังกล่าว และมาตรฐาน ISO 21931, Sustainability in building construction — Framework for methods of assessment of the environmental performance of construction works สามารถช่วยได้ในเรื่องนี้ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามได้ในครั้งหน้าซึ่งเป็นตอนจบค่ะ
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2510.html
2. https://gocontractor.com/blog/how-does-construction-impact-the-environment/
Related posts
Tags: carbon management, ISO, Standardization, Sustainability
Recent Comments