บทความ เรื่อง มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนสำหรับงานก่อสร้าง ตอนที่ 1 และ มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนสำหรับงานก่อสร้าง ตอนที่ 2 ได้นำเสนอเรื่องราวของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอาคารซึ่งมีส่วนในการสร้างมลพิษทางอากาศเป็นอย่างมาก และองค์กรสากลด้านอาคารได้พยายามทำให้อุตสาหกรรมนี้ลดปล่อยคาร์บอนจนกระทั่งเป็นศูนย์เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เช่น GlobalABC WorldGBC และ WBCSD เป็นต้น นอกจากนี้ ไอเอสโอยังได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมก่อสร้างและอาคารร่วมกันลดมลพิษทางอากาศด้วยการพัฒนามาตรฐาน ISO 21542, Building construction – Accessibility and usability of the built environment และมาตรฐาน ISO 21931 รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำไปใช้มากขึ้น ซึ่งจะกล่าวถึงดังต่อไปนี้
มาตรฐาน ISO 21931 Sustainability in buildings and civil engineering works — Framework for methods of assessment of the environmental, social and economic performance of construction works as a basis for sustainability assessment สามารถนำไปใช้เป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับการปรับปรุงการเปรียบเทียบวิธีการประเมินการมีส่วนร่วมของงานวิศวกรรมโยธาไปจนถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งช่วยให้องค์กรประเมินว่าตนเองยืนอยู่จุดไหนและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทำให้สามารถวัดความก้าวหน้าของงานได้
การีน ดารี ผู้จัดการของคณะอนุกรรมการวิชาการไอเอสโอ SC 17 และสมาชิกของ GlobalABC กล่าวว่ามาตรฐานนี้ไม่ใช่แค่เพียงการวัดเท่านั้น แต่ยังใช้ในการวางแผนและการคิดที่ก้าวไปข้างหน้าด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมการมีการเน้นในเรื่องของวิธีปฏิบัติด้านวิศวกรรมโยธาที่ยั่งยืนภายใต้การนำของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 59, Buildings and civil engineering works
ดารีเชื่อว่ามาตรฐานสามารถช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากมาตรฐาน 21542 และ ISO 21931 แล้ว ไอเอสโอยังได้พัฒนามาตรฐาน ISO 20887, Sustainability in buildings and civil engineering works – Design for disassembly and adaptability – Principles, requirements and guidance ซึ่งมีแนวทางการวางแผนในระยะยาวที่ช่วยให้เจ้าของงาน สถาปนิก วิศวกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในวงจรชีวิตของอาคารเพื่อปรับปรุงเรื่องความยั่งยืน และช่วยให้ประหยัดเวลาและทรัพยากรตลอดทั้งโครงการไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างใหม่ การซ่อมแซมปฏิสังขรณ์สิ่งปลูกสร้าง หรือในการออกแบบอาคารเพิ่มเติม
มาตรฐานช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประโยชน์สองทางคือ จากการขยายวงจรชีวิตของอาคารด้วยการปรับใช้อย่างมีประสิทธิผลซึ่งช่วยให้เหมาะสมกับการใช้อื่นด้วย และจากการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดจนถึงวงจรชีวิตสุดท้ายด้วยการนำมาใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และการกำจัดวัสดุต่างๆ ผลลัพธืคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนผ่านการใช้งานของอาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด การลดค่าใช้จ่าย การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการลดของเสียที่ต้องกลบฝังต่อไป
เอดูอาร์โด อิวาเรซ อดีตประธานคณะอนุกรรมการไอเอสโอ SC 16, Accessibility and usability of the built environment ซึ่งทำงานในคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 59 กล่าวว่าสมรรถนะด้านพลังงานและวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับประสบการณ์ของคนในสภาพแวดล้อมที่มีการสร้างขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความสามารถในการเข้าถึง ควรมีการพิจารณาในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตอาคาร อาคารที่มีการ ออกแบบที่ดีจะมีการพิจารณาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงในขั้นตอนแรกๆ ของการออกแบบการอาคาร ซึ่งค่าใช้จ่ายของตัวชี้วัดด้านความสามารถในการเข้าถึงและความสามารถในการใช้งานมีไม่มากนักและช่วยปรับปรุงความสามารถในการดำเนินงานอย่างยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ เขากล่าวว่าเนื่องจากการออกแบบที่พิจารณาเรื่องพื้นที่ว่างช่วยให้คนสามารถเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ได้และไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการเข้าถึง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างความสามารถในการเข้าถึงและความปลอดภัย กล่าวคือถ้าไม่มีความปลอดภัย ก็จะเข้าถึงไม่ได้ เช่น ถ้าขอบพื้นที่มีมุมตัดก็จะช่วยให้ผู้ใช้วีลแชร์สามารถเดินทางได้สะดวก แต่ว่าจะมีผลกระทบต่อผู้บกพร่องทางสายตาหรือไม่ และถ้ามีสัญญาณเสียงในบริเวณทางเดินเท้าในจุดที่ให้ข้ามถนนแล้ว จะมีผลต่อคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างไร
มาตรฐานอย่าง ISO 21542, Building construction – Accessibility and usability of the built environment เป็นมาตรฐานที่ช่วยตอบโจทย์ดังกล่าวเนื่องจากมีการระบุขอบข่ายของข้อกำหนดและคำแนะนำสำหรับองค์ประกอบของการก่อสร้างจำนวนมากที่เชื่อมโยงกับการเข้าถึงอาคารรวมทั้งการบริหารจัดการด้านความสามารถในการเข้าถึง
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าคนนับพันล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบในประเด็นความสามารถในการเข้าถึง ซึ่งเป็นเพราะว่าพวกเขาได้รับความเดือดร้อนทั้งจากความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ลดน้อยลงด้วยตัวเองและทั้งจากสมาชิกในครอบครัวด้วย
การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพที่ดี จะมีส่วนสำคัญต่อโลกที่มีความยั่งยืนซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และทำให้ทุกคนมีอากาศที่สะอาด ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น และไม่ว่าโลกของเราจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 หรือไม่ แต่ว่าโลกของเรามีสัญญาณที่ดีจากความก้าวหน้าในเรื่องนี้โดยมีมาตรฐานสากลเพื่อความยั่งยืนสำหรับงานก่อสร้างช่วยปูทางให้กับคนทั้งโลกก้าวไปสู่การลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ต่อไปในอนาคต
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2510.html
2. https://gocontractor.com/blog/how-does-construction-impact-the-environment/
Related posts
Tags: carbon management, ISO, Standardization, Sustainability
Recent Comments