เมืองที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเมืองในฝันของใครหลายคน เมืองนั้นควรมีเครือข่ายและบริการสาธารณะที่พร้อมใช้งานอย่างสะดวกสบาย ปลอดภัยและมีความยั่งยืนแบบเมืองอัจฉริยะ แต่หากจะสร้างเมืองให้น่าอยู่และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ จำเป็นต้องมีเครื่องมือและการวางแผนที่รัดกุมรอบด้าน
ไอเอสโอได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 268, Sustainable cities and communities เพื่อพัฒนามาตรฐานให้เมืองและชุมชนมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความร่วมมือจากทั่วโลก ปัจจุบัน คณะกรรมการวิชาการนี้ได้พัฒนามาตรฐานไปแล้วมากกว่า 20 ฉบับ
แบร์นาด์ แชงโดรซ ประธานคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 268 จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์สำหรับอุตสาหกรรม และปริญญาเอกสาขาพลังงาน เขาจึงสนใจในเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่ยั่งยืน ต่อมา เขาได้ทำงานกับ AFNOR ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานของประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีสมาชิกประมาณ 2,500 บริษัท และมีบทบาทในการเป็นผู้นำและร่วมมือในกระบวนการพัฒนามาตรฐานในประเทศฝรั่งเศสและยุโรป
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว AFNOR ได้แต่งตั้ง แบร์นาด์ แชงโดรซให้เป็นประธานคณะกรรมการ ISO/TC 268 ทำให้เขามีความประทับใจในแนวทางองค์รวมด้านการพัฒนาและการนำมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนไปใช้งานมาตรฐานของไอเอสโอที่ให้แนวทางกระบวนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้มีมาตรฐานสำหรับเมืองในการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ
ผู้สื่อข่าววารสารไอเอสโอโฟกัสได้สัมภาษณ์แบร์นาด์ แชงโดรซ ในประเด็นคำถามต่างๆ ที่น่าสนใจ เริ่มต้นจากคำถามที่ว่าถ้าเขาเป็นนายกเทศมนตรี หรือผู้มีหน้าที่ตัดสินใจในการนำมาตรฐานไปใช้กับเมือง เขาจะเริ่มต้นสร้างเมืองจากจุดไหน
เขาตอบว่าความท้าทายของเมืองทั่วโลก คือมีความซับซ้อนและมีเรื่องเฉพาะด้านที่เป็นเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก จำเป็นต้องพิจารณาบริบทและวัฒนธรรมของท้องถิ่นเพื่อให้ยังคงรักษาบุคลิกลักษณะของเมืองเดิมเอาไว้ จึงขอแนะนำให้เมืองนำมาตรฐาน ISO 37001 ไปใช้งาน
คำถามต่อไปคือ คำว่า “เมืองอัจฉริยะ” และ “เมืองที่ยั่งยืน” เป็นคำที่ใช้งานกันบ่อยมาก เมื่อเราเชื่อมโยงทั้งสองคำนี้เข้ากับเมือง อะไรคือความแตกต่าง
เขาตอบว่าคำสองคำนี้บางทีก็นำไปสู่ความสับสน พูดกว้างๆ คือเมืองอัจฉริยะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ในการช่วยให้จัดการทรัพยากรและวางแผนการพัฒนาในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิผลในที่ที่ควรจะทำ และครอบคลุมผลกระทบทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เมืองจำเป็นต้องประเมินความยืดหยุ่นหรือการปรับตัวในการเผชิญหน้ากับประชากรที่เพิ่มขึ้นโดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของพลเมืองในอนาคต ความหมายของทั้งสองอย่างคือหัวใจของการพิจารณาเรื่องราวทั้งหมดยังคงต้องคำนึงถึงมนุษย์เราเป็นหลัก
เขากล่าวต่อไปว่า มาตรฐานของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 268 ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 11 ได้ให้ความสำคัญกับเมือง ได้แก่ การทำให้ชุมชน เมืองและการตั้งถิ่นฐานของพลเมืองมีความปลอดภัยอย่างทั่วถึง พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) โดยมีมาตรฐานแบบสมัครใจเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการช่วยให้มั่นใจว่าเมืองยังคงสร้างงานและความเจริญก้าวหน้าได้โดยไม่เกิดปัญหาในด้านการใช้ที่ดินและทรัพยากรต่างๆ
ดร.แบร์นาด์ เป็นที่รู้กันในวงการมาตรฐานว่าเขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสถิติเป็นอย่างมาก เมืองทั้งหมดจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงกันและมีการลงทุน เพียงแค่เมืองเรียนรู้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนจากกรณีศึกษาและการเปรียบเทียบวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด โดยมีการสื่อสารและการรายงานที่เข้มแข็ง เมืองก็จะสามารถชี้วัด ติดตาม และประเมินเป้าหมายหลักได้อย่างมีประสิทธิผล
ไอเอสโอยอมรับว่าทรัพยากรของโลกส่วนใหญ่แล้วจะนำไปใช้ในเมือง เขาจึงเห็นด้วยว่าการมีคำศัพท์และนิยามศัพท์เหมือนกันทั่วโลกจึงมีความจำเป็นและสำคัญมากเช่นเดียวกับการมีตัวชี้วัดสมรรถนะที่เหมือนกันซึ่งเมืองต้องมีการกำหนดและทำความเข้าใจด้วย สถิติจำเป็นต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันเป็นอย่างมาก คนซึ่งรวมถึงผู้อยู่อาศัยในเมือง เชื่อถือมาตรฐานและสถิติจากการวัดที่เป็นมาตรฐาน สถิติและวิธีการวัดสมรรถนะสามารถบรรลุได้ด้วยความเห็นพ้องต้องกัน การมีตัวอย่างวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดและการรวมเอาเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเข้าไปไว้ในการใช้งานด้วยกัน
เมืองสามารถนำการวัดและสถิติไปใช้เพื่อเปรียบเทียบสมรรถนะกับเมืองอื่นและระบุโอกาสที่เป็นไปได้เพื่อทำการปรับปรุง และเมืองสามารถประยุกต์ใช้จากกรณีตัวอย่าง วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด และตัวชี้วัดร่วม ซึ่งทำให้มีการกำหนดและวัดเป้าหมายสมรรถนะในอนาคต ซึ่งทำให้มีความเข้าใจร่วมกันและมีตัวชี้วัดร่วมที่ทำให้เกิดคุณค่าร่วมกัน แต่อย่าลืมว่าวงจรการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมีความจำเป็นอยู่เสมอ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เมืองก็จำเป็นต้องวางแผนและตอบสนองสิ่งที่เปลี่ยนไปให้ได้ เช่นเดียวกับมาตรฐานไอเอสโอที่ใช้การบริหารจัดการคุณภาพผ่านกระบวนการทั้งหมด จึงสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้โดยอาศัยการระบุวิสัยทัศน์ การตัดสินใจ การวางแผนโครงการ การนำโครงการที่วางแผนไปปฏิบัติ และการตรวจสอบผลลัพธ์ แล้วถามว่าเมืองได้ส่งมอบงานตามโครงการแล้วหรือยัง
สำหรับคำถามที่ว่าอะไรคือความท้าทายหลักที่เขาต้องเผชิญ คำตอบคือ มีหลายเมืองที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านมาตรฐาน แต่อาจดูเหมือนค่อนข้างยากที่จะทำให้เมืองในอัฟริกามีบางอย่างเหมือนกับเมืองในยุโรป ความท้าทายก็คือการพิจารณาความแตกต่างเหล่านี้ในทางที่เราสามารถกำหนดโดยรู้ล่วงหน้าและแก้ปัญหาไปด้วยกัน อันที่จริงแล้ว มาตรฐานของไอเอสโอจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเมืองทั้งหมดทั่วโลก แม้ว่าจะมีความท้าทายเช่นนี้ แต่ก็มีผู้ที่ให้ความร่วมมือที่ดีมากและเมืองก็รายงานผลลัพธ์ที่ดีด้วย
ปัจจุบัน ในประเทศฝรั่งเศส คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 268 มีการกำหนดพื้นฐานมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนของรัฐบาลและเอกชนซึ่งหมายความว่าพวกเขาได้รับการยอมรับไปทั่วสหภาพยุโรปผ่านโครงการแนวทางเมืองอัจฉริยะ
ปัจจุบัน คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 268 ได้รับข้อมูลตอบกลับจากเมืองที่ใช้มาตรฐานไอเอสโอแล้ว และการสนับสนุนของเมืองเช่นนี้ได้ช่วยให้คณะกรรมการสามารถทบทวน ปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
เขากล่าวว่าเรื่องของการวางแผนสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่ออนาคตจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ในระยะยาว เช่น เราต้องการให้เมืองของเราเป็นอย่างไรในอีก 10 ปี หรือ 20 ถึง 30 ปีข้างหน้า ดูเหมือนจะเป็นเวลาอีกยาวนานแต่เราจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืนเสียตั้งแต่ตอนนี้
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2508.html
Related posts
Tags: ISO, SDGs, Smart Cites, Standardization, Sustaiability, Sustainable Cities
Recent Comments