ทุกปี ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลกได้เข้าร่วมประชุมเพื่อพัฒนามาตรฐานสากลเกือบ 5,000 ครั้ง แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้การเดินทางและกิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก ส่งผลให้โลกของการมาตรฐานเข้าสู่ออนไลน์อย่างสมบูรณ์ในชั่วข้ามคืน ผลที่ได้คือ การพัฒนามาตรฐานทำให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น มีความคิดเห็นมากขึ้น และในที่สุดก็มีมาตรฐานที่ดีขึ้น
ไอเอสโอได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการมากกว่า 300 คณะซึ่งครอบคลุมสาขาอุตสาหกรรมทุกประเภทนับตั้งแต่เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ไปจนถึงโลหะผสมสังกะสี คณะกรรมการวิชาการดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญมากกว่าหนึ่งแสนคนจากแทบทุกประเทศทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ร่วมกันรับผิดชอบพัฒนามาตรฐานไอเอสโอมากกว่า 23,000 ฉบับ และยังมีมาตรฐานอีกเป็นจำนวนมากอยู่ระหว่างการพัฒนา และเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า COVID-19 ได้เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดครั้งใหญ่ (pandemic) เมื่อเดือนมีนาคม 2563 คณะกรรมการไอเอสโอจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานไปด้วย
วาล์ว วิลเลี่ยม ดิออบ ประธานคณะกรรมการวิชาการร่วม ISO/IEC เรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) กล่าวว่าตามปกติ คณะกรรมการวิชาการแต่ละคณะจะประชุมพบปะกันปีละ 2 ครั้ง แต่พวกเขาไม่อาจวางแผนการประชุมแบบเดิมได้ และเมื่อปรับเปลี่ยนมาประชุมออนไลน์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาพบว่าการประชุมออนไลน์ที่นานเกินไป ไม่เหมาะกับทุกคน
การประชุมจึงได้ปรับเปลี่ยนจากแบบเจอหน้ากันนานๆ ทุกวันทั้งสัปดาห์ มาเป็นการประชุมออนไลน์ที่ใช้เวลา 2 ชั่วโมงต่อครั้งหนึ่งแต่ทำได้หลายครั้งและมีผู้เกี่ยวข้องร่วม 220 คน จาก 28 ประเทศ โดยหัวข้อที่พูดถึงกันเป็นอย่างมากคือ Big Data และ AI และยังมีมาตรฐานอีกหลายโครงการที่มีความคืบหน้า ทำให้เขารู้สึกว่าการประชุมแบบนี้ดีเกินความคาดหมาย เนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงเป้าหมาย และคล่องตัวมากขึ้น ทำให้การพัฒนามาตรฐานมีความก้าวหน้าในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ และมีความเป็นเอกฉันท์ในหลายๆ ด้าน
วาล์ว วิลเลี่ยม ดิออบ ให้ความเห็นว่าเนื่องจากทีมผู้เชี่ยวชาญที่ทำการพัฒนามาตรฐานมีสปิริตที่ดีมาก ทำให้เป้าหมายร่วมที่กำหนดไว้และผลลัพธ์ที่คาดไว้มีความชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการประชุมของคณะกรรมการไอเอสโอจากการประชุมกว่า 2,000 ครั้งที่ได้วางแผนไว้ว่าจะจัดในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนสิงหาคม 2563 แต่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมแบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น
สำหรับคณะกรรมการเอไอแล้ว มีเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการประชุม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงวาระการประชุมเป็นอย่างมาก ทำให้ต้องคำนึงถึงหัวข้อและความต้องการของคณะทำงานที่หลากหลายและกรอบเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีความเหลื่อมล้ำกัน ในแผนการประชุมครั้งใหม่นี้ อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ตามความจำเป็นเพื่อจัดการงานอื่นๆ ให้ได้ด้วยเพราะรู้ดีว่าในสถานการณ์เช่นนี้ทุกคนมีความเครียด
การประชุมของคณะกรรมการเอไอจัดขึ้นเพื่อให้เอกสารแนวทางและมาตรฐานสากลในเรื่องที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อเราทุกคนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเอไอ ปัจจุบัน มีความคืบหน้าในหลายด้านแล้ว เช่น ด้านข้อมูล วิธีการใช้ แอปพลิเคชัน ความน่าเชื่อถือ เทคนิคการคำนวณ ผลกระทบด้านธรรมาภิบาล ระบบวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และอื่นๆ อีกมากมาย
โยเจน โฟร์นาเธอร์ ผู้จัดการคณะอนุกรรมการไอเอสโอเรื่องท่อพลาสติกและข้อต่อ กล่าวว่า การประชุมออนไลน์ล่าสุดประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และยังสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมและสร้างการมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างมากอีกด้วย
เขากล่าวว่าคณะอนุกรรมการดังกล่าวกำลังพัฒนามาตรฐานใหม่และข้อกำหนดทางเทคนิค รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานเดิมที่มีอยู่แล้วในเรื่องระบบท่อพลาสติกเสริมใยแก้ว ซึ่งมีเรื่องมากมายให้พิจารณา และมีวาระการประชุมแน่นมากพอๆ กับการเตรียมการล่วงหน้า และผลลัพธ์ที่ได้คือมีคนเข้าร่วมการประชุมมากกว่าปกติและบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งหมด และคณะอนุกรรมการจะพิจารณาใช้แนวทางนี้ต่อไป
การประชุมไอเอสโอออนไลน์อื่นๆ ในช่วงเวลานี้ มีผลตอบรับจากผู้ตอบกลับประมาณ 500 คนซึ่งตอบกลับมาคล้ายๆ กันในเชิงบวก ซึ่งหมายถึงชุมชนมาตรฐานประสบความสำเร็จจากความต่อเนื่องในการอภิปรายและการพัฒนามาตรฐานจากทั่วโลก ในขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่าการประชุมเสมือนจริงเช่นนี้จะจัดต่อไปอีกนานแค่ไหน หรือสถานการณ์หลังโรคระบาดจะเป็นอย่างไร แต่ชุมชนไอเอสโอได้พิสูจน์แล้วว่าถ้าเป็นเรื่องของมาตรฐานแล้ว ก็จะผ่านพ้นไปได้เสมอ
สำหรับเอไอเป็นหัวข้อที่ทั่วโลกให้ความสนใจและการทำงานของคณะอนุกรรมการได้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตด้านเอไอ แต่การจัดประชุมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับผู้แทนกว่า 200 คน ด้วยรูปแบบเสมือนจริงก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จไปทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม โยเจน โฟร์นาเธอร์ มีความเห็นว่าในขณะที่พวกเขาหวังว่าโลกจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววัน การประชุมเสมือนจริงเป็นรูปแบบที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน
ปัจจุบัน ไอเอสโอมีเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนามาตรฐานอยู่แล้วและได้ทดลองใช้แพลตฟอร์มการพัฒนามาตรฐานแบบเสมือนจริงเพื่อให้กระบวนการทั้งหมดสามารถควบคุมได้ตามที่ต้องการ และกำหนดจะขยายขอบข่ายออกไปให้มากขึ้นภายในปี 2564
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2514.html
2. https://www.iso.org/technical-committees.html
Related posts
Tags: AI, Big Data, ISO, IT, meeting, online, standard, Standardization, virtual
Recent Comments