นับเป็นเวลาหนึ่งปีมาแล้วที่ไอเอสโอได้ลงนามในประกาศของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรปแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic Commission for Europe – UNECE) ในเรื่องมาตรฐานที่จะทำให้เพศหญิงและเพศชายมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
ไอเอสโอได้ลงนามในประกาศดังกล่าวเพื่อสร้างแผนปฏิบัติการความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ (Gender Action Plans: GAP) และนำแผนไปปฏิบัติโดยสนับสนุนกระบวนการพัฒนามาตรฐานความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชายและการมีส่วนร่วม รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับการตอบสนองมาตรฐานดังกล่าว
ไม่กี่เดือนหลังจากลงนาม คณะกรรมธิการไอเอสโอได้อนุมัติแผนปฏิบัติการเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างเพศซึ่งกำหนดโครงการและเป้าหมายในการสนับสนุนความเท่าเทียมกันระหว่างเพศไว้ในการมาตรฐาน
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ไอเอสโอได้ริเริ่มเครือข่ายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ โดยใช้แพลตฟอร์มที่แบ่งปันความรู้และวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างสมาชิกในระดับโลก ในจำนวนนี้มีสมาชิก 48 รายซึ่งได้ลงนามในประกาศของ UNECE เช่นกัน
สำหรับความสำคัญของความเท่าเทียมกันระหว่างเพศในด้านการมาตรฐานนั้น ในอดีตที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้รับการพัฒนาและทดสอบโดยผู้ชายเท่านั้น เช่น มาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ที่ใช้ทดสอบการชนมีขนาดทดสอบสำหรับผู้ชายเท่านั้น ส่งผลต่ออัตราบาดเจ็บของผู้หญิงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE ก็ใช้ลักษณะทางกายภาพของผู้ชายเป็นเกณฑ์ ส่งผลต่ออุบัติเหตุและความเสี่ยงทางสุขภาพเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมกันระหว่างเพศจำเป็นต้องมีการอ้างไปถึงสิ่งที่ประกอบขึ้นในทางสังคมด้วย เช่น ลักษณะของกฎระเบียบ บทบาท และความสัมพันธ์ของเพศ
ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกได้มากกว่า 4% เรื่องนี้ องค์การสหประชาชาติยังได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยระบุไว้ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในข้อ 5 เรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ (gender equality) ซึ่งมาตรฐานของไอเอสโอมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในทุกแง่มุม อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมด้วย
การพิจารณาเรื่องของความเท่าเทียมกันระหว่างเพศในด้านมาตรฐานจึงมีความสำคัญเพื่อที่ว่ามาตรฐานจะสามารถตอบสนองความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิผล สามารถเน้นความต้องการของตลาด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทุกคน ปัจจุบัน อุปกรณ์ PPE มีการออกแบบให้ผู้หญิงปรับใช้ได้ ทำให้ทำงานได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกับผู้ชาย
ชุมชนมาตรฐานสามารถส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างเพศและมีส่วนร่วมในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ได้ดังนี้
- ทำให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการมาตรฐานมากขึ้น ปัจจุบัน ผู้หญิงที่เป็นผู้เชี่ยวชาญพัฒนามาตรฐาน มีจำนวนเพียง 10%
- รวมเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมกันระหว่างเพศไว้ในกระบวนการพัฒนามาตรฐานด้วย เช่น Standard Council of Canada กำลังใช้กลยุทธ์การมาตรฐานและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศในระบบมาตรฐานเพื่อความเท่าเทียมกันและทั่วถึง
- พัฒนามาตรฐานเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมกันระหว่างเพศและส่งเสริมให้ผู้หญิงมีพลังอำนาจเช่นในมาตรฐานระบบการจัดการเพื่อการประนีประนอมกันของครอบครัวการทำงานและความเท่าเทียมกันในประเทศชิลี ซึ่งส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในองค์กร
- ยกระดับความตระหนักในเรื่องมาตรฐานเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมกันระหว่างเพศเช่นที่ UNECE กำลังดำเนินการอยู่ในโครงการมาตรฐานที่เกี่ยวกับการตอบสนองต่อความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ
ความเท่าเทียมกันไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขและสถิติ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำงาน ความต้องการของคนในเรื่องความรับผิดชอบ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อทุกคน
ไอเอสโอได้มีพันธสัญญาในการสนับสนุนความเท่าเทียมกันระหว่างเพศในแผนปฏิบัติการด้านความเท่าเทียมกันระหว่างเพศในระบบการปฏิบัติงานของไอเอสโอ และในงานด้านการมาตรฐาน แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหุ้นส่วน สมาชิก และผู้เชี่ยวชาญแล้ว ไอเอสโอก็ไม่สามารถทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ไอเอสโอยังคงสร้างความก้าวหน้าในปีที่ผ่านมา และจะติดตามแผนปฏิบัติการเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างเพศในระยะยาวและยังคงเก็บข้อมูลตัวแทนเรื่องเพศในงานด้านการมาตรฐานซึ่งจะช่วยสร้างฐานที่มั่นคงและสร้างความเข้าใจในความท้าทายเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2512.html
Related posts
Tags: Gender Equality, ISO, SDGs, Standardization
Recent Comments