ปัจจุบัน “ชา” เป็นเครื่องดื่มประเภทหนึ่งที่มีการบริโภคกันอย่างกว้างขวางมากที่สุดในโลก และในเวลาที่มีข้อจำกัดของการเดินทางและความเครียดเช่นนี้ ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการนั่งจิบชาดีๆ สักถ้วยหนึ่ง
ชาเป็นเครื่องดื่มที่ทำมาจากพืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คามิลเลีย ซิเนนสิส (Camellia sinensis) ซึ่งใช้ผลิตชาประเภทต่างๆ ทั้งชาดำ ชาขาว ชาอู่หลง และชาเขียว มีหลักฐานพบว่าชาที่บริโภคกันในประเทศจีนนั้นมีมานานกว่า 5,000 ปีมาแล้ว
ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความต้องการบริโภคชาเป็นจำนวนมากและ “ชา” ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วโลกซึ่งองค์การสหประชาชาติได้เห็นความสำคัญของชา เมื่อเดือนมีนาคม 2563 จึงได้มีประกาศให้วันที่ 21 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันชาสากล และได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการยกระดับการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของชาทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงการพัฒนาชนบทและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนด้วย
“ชา” เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านการอักเสบและมีคุณสมบัติที่ช่วยลดน้ำหนัก จึงมีประโยชน์ในเชิงสุขภาพและสร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนทั่วโลก นอกจากนี้ คนนับล้านคนทั่วโลกยังใช้เป็นเครื่องดื่มหลักในชีวิตประจำวันมานับร้อยปีแล้ว
เมื่อปี 2562 (ค.ศ.2019) ทั่วโลกมีการค้าชาในปริมาณ 6.4 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 7.7 ล้านตันภายในปี 2568 (ค.ศ.2025) จึงนับได้ว่าอุตสาหกรรมชาเป็นธุรกิจใหญ่และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของคนจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนา
ในการสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ของคนนับล้านคนทั่วโลกสามารถทำได้ด้วยการปรับปรุงห่วงโซ่คุณค่าของชาจากการผลิตที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน และด้วยวิธีการเช่นนี้ ยังสามารถมีส่วนร่วมในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในข้อ 1 เรื่องการขจัดความยากจน ข้อ 2 เรื่องการต่อสู้กับความหิวโหย ข้อ 3 เรื่องการสร้างพลังอำนาจให้กับผู้หญิงหรือความเท่าเทียมกันทางเพศ (gender equality) และยังส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนผืนแผ่นดินอย่างยั่งยืนในข้อ 15 เรื่องการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนผืนแผ่นดิน (life on land)
ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของชาไปแล้ว 30 ฉบับ ซึ่งสามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมชาและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าวโดยมีการปรับปรุงคุณภาพและการทำให้การวัดคุณภาพชาเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลกเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวยังรวมถึงการกำหนดสารที่อยู่ในชา เช่น คาเฟอีนหรือโพลีฟีนอล ความหมายของชาประเภทต่างๆ เช่น ชาขาว ชาดำ ชาเขียว และขั้นตอนการสุ่มตัวอย่าง เป็นต้น และยังมีมาตรฐานอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น ชาอู่หลง ชาสีม่วงและชามัทฉะ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพของชาและช่วยยกระดับซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับชาทั้งหมด
มาตรฐานสากลของไอเอสโอในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชาได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 34 ผลิตภัณฑ์อาหาร คณะอนุกรรมการวิชาการ SC 8 เรื่องชา โดยมีเลขานุการคือ BSI ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ร่วมกับ SAC ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศจีน
ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2516.html
2. https://www.un.org/en/observances/tea-day
Related posts
Tags: Camellia Sinensis, Food and Beverages, ISO, SDGs, Standardization, Tea
ความเห็นล่าสุด