เมื่อเร็วๆ นี้ ทอม ไฮลันด์ คณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยของอาหารแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าววารสารไอเอสโอโฟกัส เกี่ยวกับความสำคัญของอาหารเนื่องในวันความปลอดภัยอาหารสากล (World Food Safety Day) ซึ่งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องของการป้องกันและการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับความเสี่ยงจากอาหาร รวมทั้งเรื่องของเกษตรกรรม การเข้าถึงตลาด และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เกิดโรคระบาด COVID-19 เรื่องของสุขอนามัย ความปลอดภัย จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหารด้วย
ผู้สื่อข่าววารสารไอเอสโอโฟกัสได้ตั้งคำถามว่าทำไมเราจึงต้องเน้นความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยของอาหาร สิ่งนี้ปรากฎอยู่ในกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งทำให้เรามั่นใจในอาหารที่เราซื้อมารับประทานแล้วไม่ใช่หรือ ทอม ไฮลันด์ ตอบว่า เราจะตอบคำถามนี้ได้เช่นเดียวกับคำถามเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน กล่าวคือ ถึงแม้ว่ารถยนต์จะมีโมเดลใหม่ๆ แต่การพัฒนารถยนต์ก็ไม่เคยสิ้นสุด เรายังคงต้องสร้างความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เราไม่อาจหลงลำพองใจไปว่ารถยนต์ที่เราใช้ดีอยู่แล้วโดยไม่สนใจเรื่องความปลอดภัย เช่นเดียวกับเรื่องของอาหาร ไม่มีคำตอบเหมือนคำถามที่ว่าหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับเท่าไร ระบบงานของเรามีความซับซ้อน และไม่อาจมองข้ามคุณค่าของความปลอดภัยของอาหารไปได้เลย อาหารที่ไม่ปลอดภัยถือว่าไม่ใช่อาหาร แต่เป็นสิ่งที่นำไปสู่การเกิดโรคและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวีตได้ และทุกๆ ปี โลกของเรามีคนเป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบจากอาหารที่ไม่ปลอดภัย
บางคนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีอยู่มากมายในท้องถิ่นและมั่นใจได้ว่าอาหารมีความปลอดภัยเนื่องจากผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฏหมายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายจะต้องควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภครวมทั้งภาคอุตสาหกรรมในการสร้างความมั่นใจว่ามีการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตอาหาร แต่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาหารไม่เพียงพอ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับประชากรทั่วโลกรวมทั้งผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการด้วย
ผู้สื่อข่าววารสารไอเอสโอโฟกัสถามต่อไปว่า COVID-19 ทำให้ประชากรโลกในหลายพื้นที่ต้องกักตัวอยู่ในพื้นที่ และประสบกับปัญหาของแหล่งอาหารและปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของคนเกี่ยวกับอาหารอย่างไรบ้าง
ทอม ไฮลันด์ กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นความกลัวเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหารมากกว่าความปลอดภัยของอาหาร เพราะเมื่อซัพพลายเชนที่เป็นคนทำงานเกิดเจ็บป่วยหรือชายแดนถูกปิด ก็จะต้องมีการประกาศกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความปรารถนาดีของรัฐในการปกป้องประชาชน แต่มาตรการที่เข้มงวดทุกด้านก็อาจมีผลกระทบตามมาเช่น การค้าขายที่หยุดชะงัก เขาเน้นว่าตอนนี้ ยังไม่มีหลักฐานว่า COVID-19 เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ทางอาหาร ซึ่งเราจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่กับโรคระบาด COVID-19 คือเรื่องของสุขลักษณะของอาหารเพราะผู้บริโภคต่างใส่ใจมากขึ้นกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องดี และอาจจะเป็นการกล่าวเกินเลยไปสักเล็กน้อยว่ามีการปรับปรุงความปลอดภัยด้านอาหารโดยทั่วไปให้ดีขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง อันที่จริงแล้ว เป็นไปได้ว่าอาจมีผลกระทบเชิงลบต่อระบบความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของการตรวจสอบ (Inspection) ซึ่งมีน้อยลงอันเนื่องมาจากภาวะโรคระบาด ดังเราจะเห็นได้ว่ามีการขายอาหารออนไลน์มากขึ้นเพราะคนหลีกเลี่ยงที่จะออกไปข้างนอก อย่างไรก็ตาม เขามั่นใจว่าการขายอาหารออนไลน์จะเป็นแนวโน้มที่ยังคงอยู่และจะนำมาซึ่งความท้าทายในเรื่องของการควบคุมความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ต่อไป
ความปลอดภัยของอาหารมีความสำคัญต่อทุกคนในฐานะที่เป็นผู้บริโภค และในภาวะเช่นนี้ จะยิ่งมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา แม้ว่า COVID-19 จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร แต่เราจำเป็นต้องระมัดระวังและดูแลรักษาเรื่องความปลอดภัยของอาหารด้วย
กิจกรรมประจำวันต่างๆ ของเราต้องหยุดชะงักและยังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหารที่อาจจะถูกลดความสำคัญลงไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้ว เรายังคงต้องการให้อาหารมีความปลอดภัยเป็นหลัก และสารเนื่องในวันความปลอดภัยอาหารสากลในปี 2563 นี้จึงมีเป้าหมายในการทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตมีความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งเรายังต้องระมัดระวังต่อไปเหมือนที่เคยเป็นมาและในอนาคตก็ยังคงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ต่อไป
คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร (Codex Alimentarius) มีเป้าหมายในการปรับปรุงความปลอดภัยของอาหารผ่านซัพพลายเชนอาหารทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล ซึ่งทั้ง Codex และไอเอสโอต่างมีการให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อรัฐบาล อุตสาหกรรม และผู้บริโภคทั่วโลก และประเทศต่างๆ มีการอ้างอิงถึงมาตรฐานไอเอสโอบางฉบับด้วย เช่น ISO 22000 และมาตรฐานสากลนี้เองที่จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าอาหารมีความปลอดภัย สร้างความเข้าใจและการยอมรับร่วมกันซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการค้าสากล
มาตรฐานยังช่วยให้เราเตรียมการสำหรับวันพรุ่งนี้ด้วย มาตรฐานมีความสำคัญในทุกสถานการณ์ แต่ได้ทวีความสำคัญมากขึ้นในขณะที่เกิดความไม่มั่นคงปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น จึงต้องมีสิ่งที่ใช้ในการยึดถือ จากจุดนี้จึงเป็นโอกาสดีในการพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ที่ช่วยเน้นสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต สิ่งนี้เองทำให้ทอม ไฮลันด์ ได้เข้ามาทำงานใน Codex ตั้งแต่ปี ปี 2505 (ค.ศ.1962) เพื่อช่วยกันพัฒนามาตรฐานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกและสร้างความเห็นพ้องต้องกันในแบบที่มีการร่วมมือกันด้วยความโปร่งใสและเท่าเทียมกันในจนถึงปัจจุบันนี้
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2519.html
Related posts
Tags: Codex Alimentarius, COVID-19, food safety, ISO, ISO 22000, Standardization
Recent Comments