เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563 สำนักข่าวบีบีซีได้นำเสนอข่าวผลการศึกษาการคาดการณ์ด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ของคณะนักวิทยาศาสตร์จากจีน สหรัฐ และอีกหลายชาติจากยุโรปซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์วิจัยที่มีชื่อว่า PNAS (Proceeding of the National Academy of Science) พบว่าหากมนุษย์เรายังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่กับพื้นที่ราว 20% ของโลกภายในปี 2613 (2070) และทำให้โลกตกอยู่ในสภาพร้อนระอุเหมือนทะเลทรายซาฮารา และบางพื้นที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ส่วนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นมากจนอาจส่งผลให้เกิดการพลัดถิ่นของประชากรเป็นจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2537 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) ได้รับการรับรอง ณ กรุงปารีส และได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2539 ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 17 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลกนับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา
ถึงแม้ว่าองค์การสหประชาชาติจะได้เรียกร้องให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและรณรงค์ให้มีการใช้ที่ดินและน้ำอย่างยั่งยืน แต่ปัญหาโลกร้อนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จากการรณรงค์ต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายของ UNCCD ได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาร่วมมือกันเพื่อช่วยยุติความเสื่อมโทรมของผืนแผ่นดินซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลกราว 1.3 ล้านคน และในขณะที่ประชากรโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น แต่ที่ดินสำหรับเกษตรกรรมมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนและตั้งคำถามว่าโลกของเราจะเลี้ยงดูคนทั้งโลกที่คาดว่าจะมีหลายพันล้านคนภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ได้อย่างไร และมนุษย์เราจะใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการดูแลแก้ไขอย่างจริงจัง โลกของเรามีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเพียงใด เช่น ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) การผลิตอาหารจำเป็นจะต้องอาศัยที่ดินเพิ่มขึ้นอีกถึง 300 ล้านเฮกตาร์ในขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นทำนายไว้ว่าจะมีการใช้ผืนแผ่นดินมากกว่า 35% หรือมากกว่า 115 ล้านเฮกตาร์ซึ่งเท่ากับขนาดของประเทศโคลอมเบีย
อิบราฮิม เธียว เลขาธิการบริหารของ UNCCD ได้กล่าวไว้ว่าหากมนุษย์เรายังคงผลิตและบริโภคเหมือนเดิม เราก็จะกลืนกินเอาความสามารถของโลกที่จะทำให้ชีวิตทั้งหมดมีโอกาสดำรงอยู่ต่อไปจนกระทั่งไม่เหลืออะไรไว้ให้โลกนอกจากเศษซากปรักหักพังของทุกสิ่งทุกอย่าง
คำกล่าวของอิบราฮิม เธียว ทำให้เราจำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ เราต้องการอาหารทั้งของคน อาหารของสัตว์รวมทั้งเสื้อผ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างมากมายเพื่อสิ่งที่เรามองว่าเป็นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
แนวคิดบริโภคนิยมยอมรับว่าท่ามกลางจุดเด่นคือการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโต ยังมีข้อด้อยในเรื่องของการก่อหนี้ซึ่งนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ การให้คุณค่ากับวัตถุจนละเลยคุณค่าที่แท้จริง และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลภาวะจากของเสียที่มาจากการบริโภค เมื่อมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหายมากขึ้นจนกระทั่งได้ผลผลิตน้อยลง โลกของเราไม่อาจรอให้ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกต่อไป UNCCD ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าโลกของเราต้องมีผืนแผ่นดินที่ให้ผลผลิตมากพอที่จะตอบสนองความต้องการในอนาคตได้
เนื่องในวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก ปี 2563 UNCCD ได้รณรงค์ในหัวข้อ Food, Feed, Fiber โดยมีแนวคิดในการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของความต้องการบริโภคที่มีมากจนเกินไปและความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการสร้างผลผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิตที่มีความพอดี เพื่อช่วยปกป้องและฟื้นฟูโลกของเราให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้ คนเป็นจำนวนมากตั้งคำถามกับการถูกบังคับให้ล็อคดาวน์ว่าเราจำเป็นต้องทำเช่นนั้นจริงๆ หรือ และทำไมเราไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระเหมือนที่เคยเป็นมา บางที การเกิดขึ้นของโรคระบาด COVID-19 อาจมีความหมายว่าถึงเวลาแล้วที่มนุษยชาติต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตบริโภคนิยม
สิ่งที่ UNCCD กำลังรณรงค์ เป็นความหวังของโลกที่จะทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและองค์กรต่างๆ ให้ความใส่ใจและเอาจริงเอาจังกับการวางแผนและการปฏิบัติมีคำนึงถึงความยั่งยืนของโลก เช่น ปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผืนแผ่นดินเกิดความเสื่อมโทรม และส่งสารนี้ไปยังผู้ผลิตและผู้กำหนดนโยบายให้รับทราบและสร้างการเปลี่ยนแปลง
ทุกวันนี้ UNCCD ยังคงรณรงค์ส่งเสริมให้คนทั่วโลกดูแลผืนแผ่นดินให้ดีเพื่อให้มีที่ดินที่มีคุณภาพดีซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ดีต่อสุขภาพของประชากรโลก โดยมีคำขวัญว่า “ที่ดินที่มีสุขภาพดี เท่ากับคนมีสุขภาพดี” (healthy land = healthy people)
ปัจจุบัน หลายประเทศได้ปลดล็อคมาตรการควบคุม COVID-19 และผู้คนเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ การรณรงค์ในวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก จึงเป็นสิ่งเตือนใจให้คนทั่วโลกหยุดคิดถึงสิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริงจากการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ
ที่มา: 1. https://www.bbc.com/thai/international-52548543
2. https://www.iso.org/news/ref2522.html
Related posts
Tags: Consumerism, COVID-19, Desertification and Drought Day, ISO, Standardization, UNCCD
ความเห็นล่าสุด