บทความ เรื่อง ISO 21902 กับการท่องเที่ยวที่ทุกคนเข้าถึงได้ ตอนที่ 1ได้กล่าวถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Accessible Tourism) ซึ่งมีความสำคัญต่ออนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนทั่วโลกซึ่งต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย แต่พวกเขาก็ต้องการใช้ชีวิตเช่นเดียวกับคนทั่วไปเช่นกัน รวมทั้งในการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งมาตรฐาน ISO 21902 จะช่วยขจัดข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ ของผู้พิการได้
เชซุส เฮอร์นันเดซ กาลัน ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมและความสามารถในการเข้าถึงสากลขององค์กร ONCE Foundation และรองประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้แห่งยุโรป (European Network for Accessible Tourism: ENAT) ได้แบ่งปันมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งในเรื่องการท่องเที่ยวไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของมรดกทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย ตามที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้
การท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่บ่อยครั้งก็ไม่มีกฎระเบียบหรือมีแต่ไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้น กฎระเบียบของแต่ละประเทศยังแตกต่างกันออกไป และไม่มีข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำด้วยดังเช่นที่ได้กล่าวไว้ในบทความครั้งที่แล้ว
ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับมรดกและวัฒนธรรมยังเป็นอีกเรื่องหลักอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญซึ่งการท่องเที่ยวมักจะต้องเผชิญปัญหา อนุสาวรีย์ทางประวัติศาสตร์หรือพื้นที่ทางธรรมชาติเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อน และสถานะทางด้านความเป็นมรดกตกทอด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญต้องมีการดูแลปกป้องอย่างระมัดระวัง อีกทั้งการเข้าถึงสถานที่เหล่านั้นจะต้องมีการนำมารวมกันไว้ในข้อกำหนดที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดเตรียมบริการที่มีคุณภาพ และยังต้องลดแรงต้านของคนในพื้นที่ด้วย สิ่งเหล่านี้ต้องทำด้วยความเข้าใจและมั่นใจได้ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวได้ และสามารถตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าได้ดีขึ้น ซึ่งมาตรฐาน ISO 21902 จะช่วยให้ก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ โดย ONCE Foundation และ UNWTO ได้ส่งเสริมมาตรฐาน ISO 21902 ด้วยการสนับสนุนจากสมาคมมาตรฐานแห่งประเทศสเปน (Spanish Association for Standardization: UNE) และ Royal Board on Disability ซึ่งจะช่วยให้กฎระเบียบต่างๆ เป็นมาตรฐานตามที่เขาได้เล่ามาข้างต้นและกำหนดแนวทางแบบองค์รวมผ่านทางห่วงโซ่การท่องเที่ยว
แนวทางในมาตรฐานมีการเตรียมพื้นฐานและเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับประเทศที่กำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้และทำให้เป็นกฎหมาย
มาตรฐาน ISO 21902 ได้รวบรวมแนวคิดหลายอย่างเข้ามาเพื่อพิจารณาในแง่ของความสามารถในการเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยว เช่น สภาพแวดล้อมทางกายภาพ การบริหารจัดการ การฝึกอบรมพนักงาน การปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้เหมาะสม การสื่อสาร ข้อมูลและแนวทาง บทบาทของเทคโนโลยี ความปลอดภัยและแนวทางการอพยพ และยังพิจารณาถึงข้อกำหนดของแต่ละองค์ประกอบของการเดินทางด้วย เช่น การขนส่ง ตัวแทนท่องเที่ยว ผู้ให้บริการที่พัก บริษัทท่องเที่ยว เป็นต้น รวมทั้งประเภทของการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ เป็นต้น
มาตรฐาน ISO 21902 สามารถอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล การทำให้พันธสัญญาที่ดีขึ้นจากภาคส่วนการท่องเที่ยวและความตระหนักในเรื่องทั่วไปที่ดีขึ้นจากประชากร เมือง และรัฐบาล ซึ่งภาคส่วนการท่องเที่ยวมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายและต้องทำงานด้วยกันเพื่อเป้าหมายร่วมกัน
ข้อกำหนดหลักด้านแผนกลยุทธ์เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเข้าถึงการท่องเที่ยว และมีการนำมาพิจารณาถึงความสูญเสียของการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกแบบและการจัดเตรียมบริการให้กับประชากรโลกที่มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวโน้มประชากรศาสตร์และประชากรสูงวัย ทำให้เห็นถึงความต้องการที่แตกต่างกันของประชากรในวัยต่างๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และสำหรับเมืองที่ยั่งยืน ก็มีความจำเป็นต้องรวมเอาเรื่องของความสามารถในการเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวไว้ให้กับประชากรทั้งหมดด้วย
เชซุส เฮอร์นันเดซ กาลัน เชื่อว่ามาตรฐานจะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้งานการท่องเที่ยวที่ทุกคนเข้าถึงได้สามารถก้าวไปข้างหน้าซึ่งหลายประเทศกำลังค้นหาการสนับสนุนแนวทางการท่องเที่ยวที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และสิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้มั่นใจได้ว่าภาคส่วนการท่องเที่ยวมีคุณภาพและความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง
ปัจจุบัน ไอเอสโออยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐาน ISO 21902 โดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 228, Tourism and related services กลุ่มงาน WG 14 Accessible Tourism
ที่มา:1.https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/news/magazine/ISOfocus%20(2013-NOW)/en/2020/ISOfocus_140/ISOfocus_140_en.pdf
2. https://www.iso.org/standard/72126.html
Related posts
Tags: Accessible Tourism, ISO, ISO 21902, Standardization, Sustainability
Recent Comments