หนึ่งในพันธมิตรระดับโลกของไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน คือคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (International Electrotechnical Commission – IEC ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2447 (ค.ศ.1904) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศ ทางด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
สำหรับประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกระบบการตรวจสอบและรับรองบริภัณฑ์เทคนิคไฟฟ้าและชิ้นส่วนของ IEC (IEC System of Conformity assessment Schemes for Electrotechnical Equipment and Components – IECEE) โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยรับรอง (National Certification Body – NCB) และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) เป็นหน่วยทดสอบ (CB Testing Laboratory – CBTL) ของ IECEE
ในด้านการมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน ไออีซีได้ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนรวมทั้งพลังงานน้ำ สำหรับคำว่า “น้ำ” มาจากภาษากรีก คือ ไฮโดรซึ่งหมายรวมถึงแม่น้ำและมหาสมุทรด้วย งานมาตรฐานของไออีซีครอบคลุมโครงการที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงพลังงานจากมหาสมุทรซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับไออีซีเมื่อไออีซีได้เริ่มพิจารณาถึงเรื่องที่มีศักยภาพที่จำเป็นต้องมีมาตรฐาน ซึ่งตลาดสำหรับเรื่องนี้ยังคงกว้างใหญ่มากและอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา
ในด้านสมรรถนะของโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดบางแห่งของโลกมีการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยนับพันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก เล็กปานกลาง และเล็กมากในความหมายของไออีซีนั้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กหมายถึงโรงที่ผลิตไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 15 มิลลิวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กปานกลางหมายถึงโรงที่ผลิตไฟฟ้าขนาดประมาณ 500 กิโลวัตต์และใช้ในการพัฒนาแม่น้ำสำหรับหมู่บ้าน และระบบโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำที่เล็กมากหมายถึงโรงที่ผลิตไฟฟ้าขนาดประมาณ 50 วัตต์ถึง 5 กิโลวัตต์และโดยทั่วไปใช้ในระดับบุคคลหรือกลุ่มบ้านเรือน
ไออีซีได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ TC 4, Hydraulic turbines ขึ้นตั้งแต่ปี 2456 (ค.ศ1913) และได้ทำหน้าที่จัดเตรียมมาตรฐานและรายงานทางวิชาการสำหรับการออกแบบ การผลิต การทดสอบความถูกต้องของระบบโดยรวม การทดสอบ และการทำงานของเครื่องจักรไฮดรอลิก
สิ่งที่ไออีซีมุ่งเน้นมาจนถึงปัจจุบันคือโครงการเกี่ยวกับแม่น้ำ ซึ่งรวมถึงกังหัน และปั๊มน้ำประเภทต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวควบคุมความเร็ว และการประเมินสมรรถนะและการทดสอบ เป็นต้น ปัจจุบัน ไออีซีมุ่งเน้นไปที่พลังงานจากแม่น้ำ ทั้งนี้ เนื่องมาจากมีโครงการพลังไฟฟ้าเกิดขึ้นจากแม่น้ำในเอเชีย รัสเซีย และอเมริกาใต้ และการฟื้นฟูปฏิสังขรณ์และยกระดับโรงงานที่มีอยู่ในอเมริกาเหนือและยุโรป จึงทำให้ไออีซีให้ความสำคัญกับพลังงานจากแม่น้ำ
นอกจากนี้ พลังงานจากคลื่นและกระแสน้ำของมหาสมุทรก็เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าที่มีศักยภาพอีกแหล่งหนึ่ง ไออีซีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ TC 114, Marine energy – Wave, tidal and other water current converters เมื่อปี 2007 ซึ่งได้จัดทำมาตรฐานในเทคโนโลยีสาขานี้และเผยแพร่ไปแล้วจำนวน 8 ฉบับเมื่อต้นปี 2561 (ค.ศ.2018)
พลังงานน้ำเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อยู่เสมอ ก่อให้เกิดคุณค่าได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และคณะกรรมการวิชาการ TC 4 และ TC 114 ของไออีซียังคงมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมต่อไป
ที่มา: 1. https://www.tisi.go.th/website/interstandard/iec
2. https://www.iec.ch/renewables/standardization.htm
3. https://www.iec.ch/renewables/water_power.htm
Related posts
Tags: Conformity Assessment, IEC, Standardization, water
ความเห็นล่าสุด