กฎระเบียบเกี่ยวกับฉลากโภชนาการของนมผงเด็กเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบจำเป็นต้องควบคุมดูแลเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยเป็นอย่างดี สำหรับไอเอสโอ มีชุดมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมสำหรับการกำหนดสารอาหารทางโภชนาการเช่นกันและเพิ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563
การผลิตนมผงเด็กมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือการทำให้เด็กทารกได้รับประโยชน์สูงสุดจากการมีพัฒนาการสุขภาพที่ดี ซึ่งกฎระเบียบของแต่ละประเทศจะมีระดับคุณภาพทางโภชนาการที่ต้องปฏิบัติตาม พื้นฐานของข้อกำหนดเหล่านี้หลายอย่างได้รับการกำหนดไว้ในมาตรฐานสากลของ Codex (หรือ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Food Code)
วิธีการกำหนดระดับของสารอาหารทางโภชนาการเฉพาะด้านในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กแรกเกิดถึงหนึ่งปีที่มีอยู่ในท้องตลาดมีอยู่ทั่วไป แต่หลายอย่างก็ล้าสมัยหรือไม่สมบูรณ์พอ นอกจากนี้ การมีวิธีการหลายๆ วิธียังอาจทำให้เข้าใจไขว้เขวไปว่าฉลากนั้นถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานแล้ว
ดังนั้นเพื่อให้สามารถทวนสอบความสอดคล้องของฉลากดังกล่าว ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานสากลขึ้นมาให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เรียกว่า SPIFAN (Stakeholder Panel on Infant Formula and Adult Nutritionals) ซึ่งบริหารจัดการโดย AOAC International ร่วมกับไอเอสโอ และไอดีเอฟ (Dairy Federation: IDF)
โครงการนี้นำไปสู่การพัฒนาข้อกำหนดสมรรถนะวิธีการของมาตรฐานและวิธีการวิเคราะห์สารอาหารทางโภชนาการที่มีความสำคัญในลำดับแรกจำนวนกว่า 20 อย่างในนมผงเด็กและสารอาหารเพื่อคุณค่าทางโภชนาการของผู้ใหญ่
มาตรฐานใหม่ล่าสุดในชุดมาตรฐานดังกล่าว คือ ISO 23443: 2020, Infant formula and adult nutritionals – Determination of β-carotene, lycopene and lutein by reversed-phase ultra-high performance liquid chromatography (RP-UHPLC)
สำหรับลูทีน เบต้าแคโรทีน และไลโคปีนเป็นสารอาหารที่เป็นแคโรทีนอยด์ (สารพฤกษเคมี) ซึ่งปรากฎในน้ำนมของมนุษย์ และมักมีการเติมลงไปในนมผงเด็กและสารอาหารเพื่อคุณค่าทางโภชนาการของผู้ใหญ่ พร้อมกับลูทีนซึ่งมีความสำคัญต่อสายตาหรือการมองเห็นของมนุษย์และการจดจำ ส่วนเบต้าแคโรทีนเป็นสารอาหารที่ให้โปรวิตามินเอ (สารที่ร่างสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้)
อีริก โกนิงส์ ผู้ประสานงานกลุ่มงานที่พัฒนามาตรฐานดังกล่าวระบุว่ามาตรฐานนี้เป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมนมผงเด็กและสำหรับลูกค้า เนื่องจากเป็นผลของความร่วมมือระดับสากลในการปกป้องสุขภาพผู้บริโภคและการอำนวยความสะดวกทางการค้า
มาตรฐานดังกล่าวได้ให้แนวทางที่มีประสิทธิผลในการแสดงความสอดคล้องกับกฎระเบียบระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศตามที่แสดงถึงวิธีการที่สอดคล้องกันทั่วโลกในวิธีการทดสอบซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานอื่นที่มีการพัฒนาองค์กรในภาคส่วนอาหาร เช่น AOAC INTERNATIONAL และ IDF
นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังได้รับการยกย่องจาก Codex ซึ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญของไอเอสโอ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอและมีการปรับปรุงโดยรวม
ISO 23443 และมาตรฐานอื่นในชุดนี้ได้รับการพัฒนาโดยกลุ่มงาน WG 14, Vitamins, carotenoids and other nutrients คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 34, Food Products โดยมีเลขานุการร่วมคือ AFNOR ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส และ ABNT ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศบราซิล
ผู้สนใจมาตรฐานดังกล่าวสามารถศึกษาได้จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/standard/75599.html
Related posts
Tags: Codex, Food Industry, Infant Formula, ISO, Nutrients, Standardization
Recent Comments