เทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถวัดทุกสิ่งทุกอย่างได้เพียงแค่ใช้ปลายนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นการนับก้าวเดิน การวัดแคลอรี่ ความดันโลหิต หรือน้ำตาลในเลือด ทุกอย่างดูเหมือนจะวัดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นักพัฒนาแอปพลิเคชันหรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่าแอพ จึงได้ตอบสนองความต้องการของคนซึ่งต้องการความสะดวกสบายและความรวดเร็วด้วยการพัฒนาแอพขึ้นมาเป็นจำนวนมาก มีข้อมูลจากบริษัท R2G ซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิจัยผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า มีแอพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นจาก 325,000 แอพ เมื่อปี 2560 (ค.ศ.2017) ไปเป็น 400,000 – 500,000 แอพในปี 2562 (ค.ศ.2019)
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีแอพมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนกระทั่งทำให้คนมีความกระหายใคร่รู้ในข้อมูลมากขึ้นรวมทั้งยอมรับความมีประโยชน์ของมันด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนีมีความคาดหวังที่จะผ่านกฎหมายที่ยอมให้แพทย์สั่งยาผ่านแอพสุขภาพภายในปีนี้ และคาดว่าประเทศอื่นๆ ก็น่าจะทำตามเช่นกัน
แล้วสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีคืออะไรกันแน่ องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นสภาวะที่ไม่เพียงแต่การปราศจากโรคภัยไข้เจ็บหรือความอ่อนแอเท่านั้น แต่จะต้องมีความเป็นอยู่ทางร่างกาย จิตใจ และทางสังคมที่สมบูรณ์ด้วย
ท็อด คูเปอร์ ผู้เชี่ยวชาญสากลในด้านข้อมูลสุขภาพด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์ และประธานกลุ่มที่ปรึกษาทางเทคนิควิชาการของสหรัฐอเมริกา (US Technical Advisory Group: US/TAG) เชื่อว่าแอพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการของคนตามแนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
อย่างไรก็ตาม สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมีพื้นฐานอยู่บนปัจจัยด้านโภชนาการและวิถีชีวิตซึ่งอยู่นอกเหนือสภาพแวดล้อมทางการแพทย์แบบดั้งเดิม ดังนั้น จึงสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันซึ่งผู้คนหันมาตระหนักถึงเรื่องของสุขภาพและใส่ใจกับเทคโนโลยีมากขึ้น และพยายามค้นหาทางเลือกเพื่อควบคุมชะตาชีวิตของตนเองมากขึ้น
โลกนี้มีแต่แอพสุขภาพมากมาย
ปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีแอพต่างๆ มากมายหลายชนิดในท้องตลาด บางชนิดมีเซนเซอร์ภายในที่สามารถวัดได้ว่าอะไรเกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา บางชนิดก็วัดข้อมูลระบบสัมผัสภายนอกอย่างอุณหภูมิ เซนเซอร์บางอย่าง ก็เหมือนกับเซนเซอร์ที่ใช้กันในทางการแพทย์ ซึ่งสามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงสุขภาพของเราก่อนที่เราจะรู้ตัว ดังนั้น แน่นอน ว่าอัลกอริทึมและการคำนวณต่างๆ มันสามารถทำได้อย่างง่ายดายแต่มนุษย์เราไม่สามารถทำได้รวดเร็วเท่ากับมัน ซึ่งการวัดนั้นครอบคลุมหลายเรื่องด้วยกัน เช่น แคลอรี่ ระยะทาง น้ำหนัก บีเอ็มไอ เป็นต้น
ประเภทของเทคโนโลยีแอพอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ใช้กันทั่วไปก็เช่น Headspace สำหรับการทำสมาธิ MyFitnessPal สำหรับการนับแคลอรี่ และ Endomondo สำหรับผู้ที่เล่นกีฬาประเภทต่างๆ ซึ่งรวมเอาจีพีเอสบนโทรศัพท์ของเราเข้ากับกิจกรรมทางร่างกายเพื่อใช้ติดตามความเคลื่อนไหวและวัดระยะทางกับแคลอรี่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีแอพที่ใช้วัดรอบการนอนหลับและการตื่นนอนในเวลาที่เหมาะสมด้วย แอพบางอย่างสามารถช่วยให้เราหยุดบุหรี่ได้ด้วยการติดตามความอยากสูบบุหรี่และความก้าวหน้าของการลงมือปฏิบัติ แอพบางประเภทช่วยให้เราวัดคลื่นหัวใจไฟฟ้าบนนาฬิกาแอปเปิ้ลและแบ่งปันข้อมูลกับแพทย์ของเราได้
ยังมีแอพต่างๆ ในตลาดที่ดูจะฟุ่มเฟือยไปบ้างโดยการแนะนำให้ผู้ใช้ออกแบบเองตามความต้องการซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลจำนวนมากที่เราสามารถหามาได้ ซึ่งเราอาจโต้แย้งว่า ถ้าใช้อย่างถูกต้องแล้ว แอพก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยไป แต่จะมีพลังในการเปลี่ยนโลกได้เป็นอย่างดี แล้วเราควรเฝ้าระวังเทคโนโลยีในเรื่องอะไรบ้าง
การประเมินความเสี่ยง
โดยทั่วไป ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เติบโตมากขึ้น มีแนวโน้มที่อาจเกิดความเสี่ยงที่มากขึ้นไปพร้อมๆ กับโอกาส ท็อด คูเปอร์ กล่าวถึงความเสี่ยงที่แท้จริงกับความเสี่ยงที่มีการรับรู้ของเทคโนโลยีแอพ เช่น การใช้แอพเพื่อค้นหาปั๊มแก๊สราคาถูกในระยะทาง 8 กิโลเมตร เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเกิดความผิดพลาดที่ไม่สามารถหาปั๊มแก๊สเจอเพราะแนวทางการเข้าถึงไม่ถูกต้องก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ความเสี่ยงจะกลายเป็นเรื่องส่วนบุคคล นับตั้งแต่เรื่องของความไม่สะดวกสบายเล็กน้อยไปจนถึงการเรียกใช้บริการฉุกเฉิน หรือเรื่องการเสียชีวิต ถ้าแอพที่ใช้รักษาด้วยยาเกิดความผิดพลาดไปแม้เพียงจุดทศนิยมเดียว ผลที่เกิดขึ้นจะเสียหายมาก
กอรา ดัตตา ผู้เชี่ยวชาญระดับระหว่างประเทศด้าน E-Health และโมบายไอซีทีของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 215, health informatics กล่าวว่าความเสี่ยงอยู่บนความจริงที่ว่าแอพด้านสุขภาพสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะข้อมูลทางคลินิก จึงเกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ความมั่นคงปลอดภัย การได้รับอนุญาตจากผู้ใช้งาน และการปกป้องความลับ รวมทั้งภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐานด้วย
นอกจากนี้ เรื่องดังต่อไปนี้จำเป็นต้องมีความชัดเจน ได้แก่ วิธีการทำให้มั่นใจในความสามารถของการปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บและการบริหารจัดการข้อมูล และการดูแลรักษาเครือข่าย รวมถึงความเข้ากันได้และความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกัน
ถ้าเช่นนั้น การประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามอ่านได้ในครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/news/isofocus_141-6.html
Related posts
Tags: Health, Health and Wellness, ISO, Mobile Application, Standardization, Standards
Recent Comments